Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ปัญหาผิวหนัง/16-งูสวัด): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

งูสวัด

งูสวัด เป็นโรคที่คนไข้จะมาด้วยอาการตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มเรียงตัวเป็นแนว (ตามเส้นประสาท) บนพื้นสีแดง  โดยที่จะมีอาการปวดเป็นอาการสำคัญ คนไข้ที่เป็นงูสวัด ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ โดยในสมัยก่อนจะพบว่าคนที่เป็นงูสวัดส่วนใหญ่อายุจะเกิน 40 เกือบทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้ พบงูสวัดได้ในกลุ่มคนอายุน้อยกว่าเดิมมาก แม้กระทั่งในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ก็มีให้เห็นได้บ่อยๆ
 
          สำหรับตำแหน่งที่เป็นงูสวัดนั้น สามารถเป็นได้ทุกที่ ทั้งลำตัว ใบหน้า แขนขา  โดยที่ความรุนแรงของอาการนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับอายุ และภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ในคนอายุน้อยๆ ที่เป็นงูสวัด ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการปวด หรืออาจจะมีอาการคันมากกว่า หรือไม่ก็เจ็บๆ คัน แต่งูสวัดที่พบในผู้สูงอายุ พบว่า จะมีอาการปวดมาก ปวดลึกๆ ปวดร้าวเข้าไปในกระดูก บางครั้งเสื้อผ้าที่สวมมาสัมผัสถูกก็กระตุ้นให้เกิดอาการปวดเสียวได้ บ่อยครั้งที่อาการปวดนำมาก่อนที่ผื่นจะขึ้นประมาณ 1-2 วันด้วยซ้ำไป ทำให้คนไข้บางคนได้รับการผ่าตัดเพราะคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ แล้วพบว่าหลังนั้นวันถึงสองวันก็เริ่มมีผื่นขึ้นมาในบริเวณที่ปวด    นอกจากนี้ งูสวัดในคนที่ภูมิคุ้มกันดี มักจะมีตุ่มน้ำน้อย หรือมีขนาดเล็ก แต่มีอาการบวมแดงมาก ขณะที่คนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี จะมีตุ่มน้ำมาก, ขนาดใหญ่ ในขณะที่มีอาการบวมแดงน้อย   ตำแหน่งที่เป็นงูสวัดก็มีความสำคัญเช่นกัน  งูสวัดที่บริเวณหน้าผากในคนอายุน้อย ส่วนใหญ่มักพบร่วมกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง , การเป็นงูสวัดที่บริเวณหู อาจจะมีอาการแทรกซ้อนของเส้นประสาที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ ทำให้มีอาการหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยวตามมา การเป็นงูสวัดที่หน้าผาก ร่วมไปกับบริเวณปลายจมูก อาจจะมีอาการแทรกซ้อนของที่กระจกตาดำได้
   
           งูสวัดนั้น เป็นเชื้อเดียวกับเชื้อสุกใส การเป็นงูสวัดนั้น ไม่ใช่การติดเชื้อมา แต่เป็นเพราะเมื่อสุกใสหายแล้ว เชื้อจะซ่อนตัวอยู่ในร่างกายในระยะสงบ รอเวลาที่ภูมิต้านทานของร่างกายที่มีต่อเชื้อลดลง แล้วจึงมาแสดงอาการ โดยจะไม่ขึ้นทั้งตัวแบบเดียวกับโรคสุกใส แต่จะขึ้นมาตามแนวของเส้นประสาท ในบริเวณที่เชื่อว่า เมื่อตอนที่เป็นสุกใสเป็นบริเวณที่ขึ้นตุ่มน้ำมากที่สุด    ในขณะที่การเป็นงูสวัดนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อมาจากผู้อื่น แต่ผู้ที่เป็นงูสวัดนั้น สามารถแพร่เชื้อไปให้คนปกติที่ไม่เคยเป็นสุกใส ให้ติดและเป็นโรคสุกใสได้   โดยที่การติดนั้น จะติดไปทางเดินหายใจเป็นหลัก และการสัมผัสเป็นรอง นอกจากนี้ เมื่อเป็นงูสวัดแล้ว ระดับภูมิต้านทานต่อเชื้อจะถูกกระตุ้นให้สูงขึ้น ทำให้ไม่กลับมาเป็นอีก จนกว่าจะอีกหลายปี หรือหลายสิบปีให้หลัง เว้นเสียแต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็อาจจะกลับมาเป็นอีกได้บ่อยๆ
 
           ในการรักษางูสวัดนั้น ในคนที่อายุน้อย หรือคนที่ภูมิคุ้มกันปกตินั้น  สามารถให้การรักษาตามอาการได้ เพราะเป็นโรคที่หายได้เอง ภายใน 2 สัปดาห์  แต่ในคนที่อายุมาก หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเมื่อรักษาตามอาการไปแล้ว ไม่มีแนวโน้มที่แผลจะแห้งหายไปได้เอง ตลอดจนการเป็นงูสวัดในตำแหน่งสำคัญ ซึ่งเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อน ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ยาที่จำเพาะต่อเชื้อ  การให้ยาที่จำเพาะต่อเชื้อในผู้สูงอายุที่เป็นงูสวัดนั้น นอกจากมีความมุ่งหมายผลให้แผลหายแล้ว ยังต้องการที่จะให้เพื่อป้องกันอาการอักเสบเรื้อรังของปลายประสาท ซึ่งมักจะทำให้คนไข้มีอาการปวดเรื้อรังอยู่นาน (มักนานกว่า 3 เดือน) ซึ่งในการนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาที่จำเพาะกับเชื้อในเวลาที่เร็วพอ คือภายใน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจึงจะมีผลป้องกันอาการดังกล่าวได้บ้าง   สำหรับการดูแลทั่วไปนั้น เช่นเดียวกับผิวหนังทั่วไป แต่ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อแทรกซ้อน ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการไปพ่น พอก หรือเป่า ในกรณีที่สนใจการรักษาด้วยสมุนไพร องค์การเภสัชกรรมได้ผลิตว่านพญายอ หรือเสลดพังพอนมาในรูปแบบที่สะอาด ปลอดเชื้อ ก็สามารถนำมาใช้ได้  นอกจากนี้ความเข้าใจเดิมที่ว่า ถ้าเป็นงูสวัดรอบตัวแล้วจะต้องเสียชีวิตนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับอาหารแสลงในโรคนี้ เป็นต้นว่า ห้ามกินไข่ ในทางการแพทย์ก็ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด


Copyright © 2014. All Rights Reserved.