Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ปัญหาผิวหนัง/12-ลมพิษ): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

ลมพิษ

ลมพิษ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปะดงนั้น  คนไข้ที่เป็นจะมาด้วยอาการบวม แดง และคันตามผิวหนังซึ่งอาจจะเป็นเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วๆ ไปได้ ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่แล้ว อาการของลมพิษจะเป็นอยู่ไม่นาน มักจะเป็นในระดับชั่วโมง หรืออย่างมาก ก็ไม่เกิน 1 วัน  ขณะที่คนไข้มาพบแพทย์บางทีผื่นอาจจะยุบไปแล้วก็ได้ มีโรคผิวหนังไม่กี่อย่าง ที่ผื่นจะขึ้นมา และหายไปภายในเวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งนอกเหนือจาก ลมพิษแล้วก็มี ผดร้อน และอาการที่เกิดจากเส้นเลือดขยาย และหดตัว
          
          เราแบ่งลมพิษ เป็น 2 ชนิด คือลมพิษเฉียบพลัน และลมพิษเรื้อรัง โดยใช้ระยะเวลาในการแบ่ง ลมพิษที่เป็นมาไม่ถึง 6 สัปดาห์ ถือว่าเป็นลมพิษเฉียบพลัน ส่วนลมพิษที่เป็นเกินกว่านั้น เรียกว่าเป็นลมพิษเรื้อรัง ทั้งนี้ จะต้องเป็นไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 วัน   ความสำคัญของการแบ่งอยู่ตรงที่สาเหตุ กล่าวคือ ลมพิษเฉียบพลันนั้น มักจะมีสาเหตุ เป็นต้นว่า เกิดจากการแพ้อาหาร หรือยา หรือเกิดร่วมหรือตามหลังการติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย เป็นไข้ คออักเสบ ฟันผุ เหงือกอักเสบ ฯลฯ  การรักษาลมพิษเฉียบพลัน มักจะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา คนไข้ส่วนใหญ่มักจะพอที่จะทราบสาเหตุที่ทำให้เป็น และพยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว การควบคุมลมพิษเฉียบพลันด้วยยาต้านฮิสตามีน ร่วมไปกับยาทาจะทำให้อาการดีขึ้น   ส่วนลมพิษเรื้อรัง นั้น มักจะไม่มีสาเหตุชัดเจน ในกลุ่มที่พอจะมีสาเหตุอยู่บ้าง ก็มักจะเป็นเหตุปัจจัยทางกายภาพ เป็นต้นว่า กระทบร้อน กระทบหนาว ขีดข่วนแกะเกา ใส่เสื้อผ้ากดรัด ออกกำลังกาย เหงื่อออก ตากแดด สั่นสะเทือน ซึ่งประวัติการเกิดลมพิษ ตลอดจน ลักษณะของลมพิษที่ขึ้นจะช่วยชี้บ่งว่าสาเหตุน่าจะมาจากปัจจัยทางกายภาพ สำหรับเหตุอื่นซึ่งพบได้น้อยกว่า เป็นต้นว่า ลมพิษที่เกิดจากการแพ้สัมผัส ลมพิษที่พบร่วมกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง ลมพิษที่พบร่วมกับการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี ลมพิษที่พบร่วมกับเนื้องอก และมะเร็ง  เหล่านี้ เป็นลมพิษที่พบได้น้อย และคนไข้ที่เป็นมักจะมีอาการแสดงของโรคที่พบร่วมนั้นๆ ให้เห็นด้วย ซึ่งจะช่วยเป็นแนวทางในการสืบค้นด้วยการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คนไข้ที่มาด้วยลมพิษเรื้อรัง ที่เมื่อซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ไม่พบว่ามีข้อชี้บ่งที่จะทำให้นึกถึงโรคอื่นๆแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำการตรวจทดสอบเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ เพราะมักจะได้ผลลบ คือตรวจไม่พบอะไร หรือได้ข้อมูลที่ทำให้สับสนมากขึ้น
  
          การเริ่มรักษาให้เร็ว ร่วมไปกับการหลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางกายภาพดังที่กล่าวไปแล้ว หรือ การหลีกเลี่ยงยาบางอย่างที่กระตุ้นให้ลมพิษเป็นมากขึ้น เช่น ยาแก้ปวดข้อที่เรียกว่า NSAID หรือยาแก้ไอ Codeine หรือ Aspirin เป็นต้น   สำหรับยาที่ใช้ ก็มักจะอยู่ในกลุ่มยาต้านฮิสตามีนที่ออกฤทธิ์ยาว ร่วมกับยาทาบางอย่างที่จะช่วยทำให้อาการทุเลาลง   ในการรักษาจะต้องใช้เวลานานหลายเดือน กว่าจะคุมอาการให้สงบ และปรับลดจนหยุดยาได้ อย่างไรก็ตาม ลมพิษเรื้อรังก็อาจจะกลับมาใหม่ หรือเป็นๆหายๆ แต่ที่สุดแล้ว ลมพิษเรื้อรังที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน มักจะมีระยะเวลาของโรคประมาณ 2-5 ปีแล้วก็หายไป
 
          มีลมพิษอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าลมพิษร่วมกับหลอดเลือดอักเสบ ลมพิษในกลุ่มนี้ มักจะมีอาการเจ็บมากกว่าคัน และผื่นมักจะอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง ตลอดจนเมื่อผื่นยุบไปแล้ว มักจะทิ้งรอยดำคล้ำไว้ และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นว่า ข้ออักเสบ ลมพิษในกลุ่มนี้ จำเป็นที่จะต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม เพราะในบางรายที่เป็นลมพิษร่วมกับหลอดเลือดอักเสบ อาจเป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่ น โรค SLE  หรือเกิดจากการแพ้ยาก็ได้  และอาจจะต้องได้รับการรักษาที่จำเพาะกับโรคร่วมไปด้วย   ในกรณีนี้ ควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


Copyright © 2014. All Rights Reserved.