Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/เลเซอร์-และ-ทรีตเมนต์/38-ไอออนโตฟอเรซิส-iontophoresis): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

ไอออนโตฟอเรซิส (Iontophoresis)

มีการใช้ไอออนโตฟอเรซิสในวงการแพทย์มากว่า 200 ปีแล้ว ไอออนโตฟอเรซิสเป็นวิธีการผ่านตัวยาเข้าสู่ผิวหนังโดยอาศัยกระแสไฟฟ้าในการผลักดันยาหรือสารละลายที่มีประจุเข้าสู่ผิวหนัง โดยหลักการประจุบวกผลักบวก ประจุลบผลักลบ ผลการรักษาที่ได้จึงขึ้นกับตัวยา หรือสารที่ใช้ในการทำไอออนโตฟอเรซิส เดิมทีไอออนโตฟอเรซิสถูกใช้ในการนำผ่านยาชาเข้าสู่ผิวหนัง เพื่อทดแทนการฉีดยาชา และมีการใช้ไอออนโตฟอเรซิสในการรักษาโรคเหงื่อออกมากตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า โดยใช้น้ำประปาในการทำไอออนโตฟอเรซิส พบว่าได้ผลดี และยังใช้เป็นวิธีการรักษามาจนปัจจุบัน


          นอกจากนี้ ยังมีการใช้ ไอออนโตฟอเรซิสเพื่อนำผ่านยาในกลุ่มยาปฏิชีวินะ ยาต้านไวรัส ยารักษาเชื้อรา มีการใช้ในการรักษาโรคแผลร้อนใน ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ มะเร็งผิวหนังบางชนิด กำจัดขน และด่างขาว ซึ่งไม่เป็นที่นิยมกันแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากยาที่พัฒนามาใหม่ๆ มีความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่จุดออกฤทธิ์ได้ดี ประกอบกับผลการรักษาด้วย ไอออนโตฟอเรซิสในโรคต่างๆ ที่ได้ผลดีนั้น ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของแพทย์แต่ละคน และยังถือเป็นมาตรฐานการรักษาไม่ได้ เว้นแต่การใช้ไอออนโตฟอเรซิสเพื่อรักษาอาการเหงื่อออกมากตามมือเท้า


          ในระยะ 15 ปีมานี้ มีกระแสนิยมในการนำเอาไอออนโตฟอเรซิสมาเพื่อ รักษารอยดำที่ผิวหนัง เช่นฝ้า หรือทำให้หน้าขาวใสขึ้น โดยการใช้สารน้ำของวิตามินซี ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น reducing agent โดยเชื่อว่าจะช่วยลดการสร้างสีของผิวหนังซึ่งเป็นกระบวนการ oxidation ในทางทฤษฎี แล้วก็เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ และคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจำนวนมากก็รู้สึกว่าดีขึ้น หลังจะทำ ไอออนโตฟอเรซิสติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเปรียบเทียบโดยรพ.ศิริราชในคนไข้ที่เป็นฝ้า และได้รับการรักษาด้วยยาทาตามวิธีมาตรฐานอย่างเดียว กับการเสริมด้วยไอออนโตฟอเรซิส-วิตามินซี พบว่า ไอออนโตฟอเรซิสไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะยาที่ใช้รักษาฝ้าในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการลดการทำงานของเซลล์สร้างสีได้มากอยู่แล้ว การทำไอออนโตฟอเรซิสจึงไม่น่าจะเพิ่มผลการรักษาแต่อย่างใด ทำนองเดียวกันการทายาเพื่อลดการทำงานของเซลล์สร้างสีเพื่อให้หน้าขาวขึ้น ก็น่าจะมีผลมากกว่ากว่าการทำไอออนโตฟอเรซิสแต่เพียงอย่างเดียว แต่การทำไอออนโตฟอเรซิสเพื่อช่วยให้หน้าขาวขึ้น ก็น่าจะมีผลดีขึ้นกว่าการไม่ได้ทำอะไรเลย ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อไม่ให้มองประสิทธิภาพของการทำไอออนโตฟอเรซิสเกินความจริงไป


          นอกจากการใช้วิตามินซี ในการทำไอออนโตฟอเรซิส เพื่อประโยชน์ด้านเวชสำอางแล้ว ยังมีการนำเอา vitamin A acid และฮอร์โมนเอสโตรเจน มาทำไอออนโตฟอเรซิส เพื่อช่วยให้ริ้วรอย และรอยแผลเป็นจากสิวดีขึ้น ซึ่งยังขาดข้อมูลศึกษาเปรียบเทียบ และปัจจุบันไม่ค่อยมีการกล่าวถึงประโยชน์ในแง่นี้เท่าใดนัก มีเพียงรายงานจากในประเทศญี่ปุ่นไม่มากนักเท่านั้น จึงไม่สามารถยืนยันถึงประโยชน์ของไอออนโตฟอเรซิส ในแง่นี้ได้ การใช้จึงควรอยู่ในดุลยพินิจของคนไข้ และแพทย์เป็นการเฉพาะรายเท่านั้น


Copyright © 2014. All Rights Reserved.