Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ปัญหาผิวหนัง/18-ฝ้า): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

ฝ้า

ฝ้าเป็นรอยสีน้ำตาลบนใบหน้า มีลักษณะเป็นปื้น มักเป็นบริเวณ โหนกแก้ม จมูก เหนือคิ้ว และที่ริมฝีปาก และ มักเป็นกับผู้หญิงในวัย 25 ถึง 50 ปี เป็นส่วนใหญ่ แต่ในผู้ชายก็พบได้เช่นกัน  มีข้อความระบุในตำราผิวหนัง ว่าผู้ชายที่เป็นฝ้ามาก ควรจะต้องตรวจสอบหน้าที่การทำงานของตับ ทั้งนี้เป็นเพราะ ฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อ เอสโตรเจน เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เป็นฝ้า ในผู้ชาย ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีอยู่ในจำนวนเล็กน้อยจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ ในคนที่ตับไม่ดีจึงอาจจะมีฮอร์โมนนี้มากกว่าผู้ชายทั่วไป จึงมักพบว่าผู้ชายที่มีปัญหาโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง จะมีฝ้า , มีเต้านม (Gynecomastia), และมีลูกอัณฑะฝ่อลง
 
          การเป็นฝ้า นั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางพันธุกรรม ที่กำหนดมา ทำให้บางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นฝ้าได้ง่ายกว่าคนอื่น ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ลักษณะผิวเดียวกัน และออกแดดเท่าๆ กัน แม้จะดูเหมือนว่า การเป็นฝ้านั้นถูกกำหนดมาแล้ว แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกบางอย่างที่ส่งเสริมให้เป็นฝ้า และสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยนั้นๆ ได้ เช่น การออกแดดมาก เรื่องการออกแดดนั้น มีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องบางประการ คนไข้หลายคนมักปฏิเสธว่า ปกติทำงานไม่ได้ออกแดดเลย แท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องการหลีกเลี่ยงก็คือ รังสีอุลตร้าไวโอเล็ตที่อยู่ในแสงแดด ในแสงแดดนั้น มีรังสีหลายชนิดทั้งแสงที่ตามองเห็นและมองไม่เห็น การที่ไม่ได้เห็นเงาตัวเองทอดไปกับพื้น จึงไม่ได้หมายความว่าไม่ได้สัมผัสกับรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต การอยู่ริมระเบียง ใต้ชายคา หรือริมหน้าต่าง เช่นในรถ ก็มีโอกาสถูกกระตุ้นจากรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตเช่นกัน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม มักมีคำถามว่า ต้องทำงานใต้หลอดฟลูโอเรสเซ้น ตลอดเวลา จะมีส่วนทำให้ไปฝ้าหรือไม่ พบว่าแสงที่หลอดฟลูโอเรสเซ้นเปล่งออกมานั้น ไม่มีรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตแต่อย่างใด นอกจากเรื่องแสงแดดแล้ว เรื่อง ฮอร์โมนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ผู้หญิงหลายคนเป็นฝ้าเมื่อตั้งครรภ์ หรือรับประทานยาคุมกำเนิด เพราะยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งต่างจากการฉีดยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจนโตรเจน ดังนั้นที่คนไข้หลายคนกังวลว่า ถ้าแดยาคุมกำเนิดแล้วประจำเดือนไม่มา จะทำให้เป็นฝ้าง่ายขึ้นนั้น จึงไม่เป็นความจริง ที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ฝ้าแสดงอาการออกมา นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ก็อาจมีผลอยู่บ้าง เช่น ความเครียด เพราะความเครียดทำให้เกิดกระบวนการ oxidation ในร่างกายมากขึ้น กระบวนการ oxidation นี้เป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างเม็ดสี ความเครียดจึงมักทำให้ผิวดำขึ้น นอกจากนั้น ยาบางอย่างก็อาจจะทำให้เป็นฝ้าได้ด้วย เช่นยากันชัก เป็นต้น
 
          มีภาวะบางอย่างที่อาจจะต้องแยกออกจากฝ้า เช่นรอยดำตามหลังการอักเสบ (post inflammatory hyperpigmentation) เช่นมีผื่น หรือการระคายเคืองที่ผิวหนังนำมาก่อน เมื่อหายแล้วมักจะมีรอยดำ หรือรอยดำจางการใช้เครื่องสำอางโดยเฉพาะที่มีกลิ่นหอม (Rhiel?s melanosis) หรือ การแพ้ยาบางชนิด (Fixed drug eruption) เป็นต้น ซึ่งแพทย์ผิวหนังสามารถที่จะแยกความผิดปกติเหล่านี้ออกจากฝ้าได้
 
          ในการรักษาฝ้านั้น ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเป็นฝ้านั้นเป็นเรื่องปกติสำหรับบางคน เพราะฝ้านั้นจะถือว่าไม่หายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อจะรักษา จะต้องแน่ใจตัวเองก่อนว่า สามารถที่จะรับการรักษาต่อเนื่องในระยะเวลายาวนานได้ เพราะเมื่อหยุดการรักษา แม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ หรือแม้ในขณะรักษา ถ้าตากแดดมากโดยไม่ได้ป้องกันอย่างเพียงพอ ก็อาจดำขึ้นกว่าเดิมได้ นอกจากนั้น ฝ้าที่แต่ละคนเป็นนั้น มักจะมีทั้งฝ้าลึก และฝ้าตื้น ฝ้าตื้น คือฝ้าที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้า ซึ่งสามารถรักษาให้จางลงได้ ส่วนฝ้าลึก คือฝ้าที่อยู่ในชั้นหนังแท้ และไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลดี ดังนั้น เมื่อรักษาฝ้า ในช่วงแรก มักจะรู้สึกว่าฝ้าจางลงดี และเร็ว แต่เมื่อทายาต่อเนื่องสม่ำเสมอไปสักระยะหนึ่ง คนไข้จะรู้สึกว่าฝ้าจางช้าลง และเริ่มนิ่ง ไม่จางลงไปกว่าเดิม นั่นเพราะส่วนที่เป็นฝ้าตื้นจางหมดไปเหลือแต่ฝ้าลึก ซึ่งในระยะนี้ ถ้าหยุดการรักษาไป หรือไปตากแดดมาก ฝ้าตื้นก็จะกลับมา และรู้สึกดำขึ้นอีก
 
         สำหรับวิธีการรักษา โดยทั่วไปแล้ว จะต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นต่างๆ เช่น ไม่ควรรักษาฝ้าขณะตั้งครรภ์ ถ้ารับประทานยาคุมกำเนิดอยู่ ควรจะปรึกษากับแพทย์เพื่อเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิด จะต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยวธีการต่างๆ ไม่เพียงแค่ทายากันแดด ในการทายากันแดดนั้น ควรเลือกยากันแดดที่มีส่วนผสมของสารที่สะท้อนแดด (Physical sunscreen) เช่น Titaniam dioxide หรือ Zinc Oxide และมีค่า SPF อย่างน้อย 30 ถ้าทำกิจกรรมที่อาจจะต้องมีเหงื่อออกมาก ควรเลือกยากันแดดที่กันน้ำได้ด้วย ซึ่งอาจจะมีลักษณะมันเล็กน้อย การทายากันแดด จะต้องล้างหน้าให้สะอาดก่อน และทาก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 ถึง 30 นาที วันละ 2 ครั้ง คือ เช้า และเที่ยง ส่วนยาทาฝ้าที่ใช้ มักจะมีส่วนผสมของตัวยาที่ระงับการทำงานของเซลล์สร้างสีเป็นสำคัญ เช่น hydroquinone, licorice, kojic acid, arbutin, azeleic acid เป็นต้น ในบรรดายาซึ่งออกฤทธิ์ระงับการทำงานของเซลล์สร้างสีนั้น hydroquinone ยังนับว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้ฝ้าจางลงได้เร็ว แต่ก็มีผลข้างเคียงพอสมควร เป็นต้นว่า ระคายเคือง ทำให้แดง หรือในระยะยาวก็อาจเป็นเส้นเลือดเล็กๆ จนกระทั่งเป็นจุดดำที่เรียกว่า ochronosis ซึ่งแก้ไขได้ยาก ดังนั้น การใช้ hydroquinone เพื่อรักษาฝ้าจึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น ในครีมทาผิวทั่วไปที่ระบุว่าสามารถทำให้หน้าขาวขึ้นได้นั้น องค์การอาหารและยา ได้ห้ามไม่ให้มี hydroquinone เป็นส่วนประกอบเนื่องจากเป็นยา และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ สำหรับยาอื่นที่มักจะนำมาใช้ร่วมในการรักษา ได้แก่ ยาในกลุ่ม retinoic acid ตลอดจน การใช้กรดอัลฟาไฮดรอกซี เพื่อช่วยให้มีการผลัดเซลล์และหลุดลอกของผิวหนังชั้นนอก ซึ่งมีเม็ดสีสะสมอยู่ออก ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น
 
          เมื่อทายาไปสักระยะหนึ่งแล้ว จะรู้สึกว่าหน้าขาวขึ้น คนไข้มักจะบอกว่า หน้าแดงเวลาออกแดด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เม็ดสี หรือสีผิวนั้น ก็คือยากันแดดโดยธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราใช้ยาที่ระงับการทำงานของเซลล์สร้างสี ก็เท่ากับว่า เราไปลดประสิทธิภาพของร่างกายในการป้องกันแสงแดด เมื่อไปออกแดดเหมือนปกติ ก็จะมีอาการแดง เหมือนกับคนผิวขาวไม่เคยโดนแดดประจำแล้วมาตากแดดมาก ดังนั้น เมื่อหน้าขาวขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องทายากันแดดให้เต็มที่ สม่ำเสมอ ร่วมไปกับการหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยวิธีการต่างๆ หาใช่เป็นเพราะหน้าบางลง เนื่องจากยารักษาฝ้าแต่อย่างใดไม่ สำหรับในกรณีที่หน้าแดงเพราะผลข้างเคียงของยาทาฝ้านั้น เมื่อฝ้าจางลงพอที่จะปรับลดยาฝ้าให้อ่อนลงได้ อาการหน้าแดงก็จะลดลง เว้นเสียแต่ว่าใช้ยาฝ้ามานานเกินไป จนเกิดผลข้างเคียงเป็นเส้นเลือดฝอยขึ้นมาแล้ว แม้จะลดยาฝ้าให้อ่อนลง เส้นเลือดฝอยเหล่านั้นก็ไม่อาจหายไป ในการรักษาฝ้านั้น จำเป็นจะต้องพบกับแพทย์เพื่อตรวจเป็นระยะ เพื่อพิจารณาปรับลดยาฝ้าให้อ่อนลงเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากฝ้าไม่อาจหายขาดได้ ถ้าต้องการผลการรักษาจำเป็นต้องใช้ยาฝ้าในระยะยาวนาน จึงต้องปรับยาเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
 
          การรักษาฝ้าด้วยวิธีการอื่นๆ นอกเหนือไปจากยา พบว่า laser บางชนิด เช่น Nd-Yag laser , IPL และการทำ fotofacial RF สามารถทำให้ฝ้าตื้นจางลงได้ แต่โดยทั่วไปไม่ได้ผลดีไปกว่าการทายารักษาฝ้า และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจึงน่าจะเหมาะกับ ผู้ที่ไม่สามารถทายาฝ้าได้อย่างเต็มที่ เป็นต้นว่า ฝ้าที่ผ่านการรักษามามาก และมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นแล้ว เช่น พอเริ่มทายาฝ้าอีก ก็มีอาการหน้าแดงมาก ไม่สามารถใช้ยาฝ้าที่แรงพอที่จะทำให้ฝ้าที่มีอยู่จางลงได้ หรือมีเส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นแล้ว ในกรณีนี้ การทำ fotofacial RF มีความน่าจะเป็นไปได้ว่านอกจากจะทำให้ฝ้าตื้นจางลงแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดฝอยลดลงได้ด้วย ทั้งนี้จะต้องเข้าใจว่า การทำยาที่ระงับการทำงานของเซลล์สร้างสี ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย โดยอาจจะใช้ยาที่มีผลข้างเคียงน้อย (ซึ่งก็มีประสิทธิภาพน้อยตามไปด้วย) หรือใช้ยาในกลุ่ม hydroquinone ซึ่งมีผลข้างเคียงมาก แต่เลือกใช้ที่ความเข้มข้นต่ำเพียงเพื่อป้องกันการกลับดำขึ้นของฝ้าเท่านั้น และแน่นอนว่า การทายากันแดดสม่ำเสมอ ร่วมไปกับการหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยวิธีการต่างๆ ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดก็ตาม


Copyright © 2014. All Rights Reserved.