Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ผม-และขน/7-กำจัดขน): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

กำจัดขน

ในเวชปฏิบัติผิวหนัง ปัญหาที่คนไข้มาปรึกษาในเรื่องผม หรือขนนั้น มักจะพบว่าเป็นเรื่องผมร่วงหรือผมบางมากกว่า มีคนไข้มาปรึกษาในเรื่องต้องการกำจัดขนในบริเวณที่ไม่ต้องการเป็นสัดส่วนน้อย ซึ่งแตกต่างจากในต่างประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีในการกำจัดขนด้วยเครื่องมื่อต่างๆ มีพัฒนาการไปมากอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่นิยมมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความแตกต่างในค่านิยม และความคิดที่ว่า ขนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะส่วนตัวมากๆ อย่างไรก็ตาม การกำจัดขน แม้จะไม่ใช่เพื่อความสวยงาม ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่พอสมควร
 
           สังเกตได้จากคนไข้ที่มาปรึกษา เรื่องรอยดำที่รักแร้ ซึ่งมักพบว่าเป็นรอยดำตามหลังการอักเสบ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการแพ้สารระงับเหงื่อและกลิ่นตัว และครีมกำจัดขน หรือการถอน หรือโกนขนรักแร้ซึ่งมักตามมาด้วยการอักเสบ หรือติดเชื้อ; นอกจากนี้ คนไข้บางคนซี่งมีปัญหาเรื่องขนคุด ขนที่งอกแล้วย้อนกลับเข้าไปแทงผิวหนัง หรือรูขุมขนอักเสบ ที่ตามมาด้วยแผลเป็นนูนซึ่งมักเป็นที่บริเวณท้ายทอย (ที่เรียกว่า Acne keloidalis) การรักษาที่จะได้ผลดีนั้น จำเป็นจะต้องกำจัดขนร่วมไปด้วย ไม่นับรวมไปถึงขนในบริเวณที่ไม่ต้องการ เช่น ขนที่หน้าแข้ง หน้าท้อง ที่แขน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในการแต่งตัว หรือเลือกเสื้อผ้า จะว่าไปแล้ว เรื่องขน ดูท่าจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว
 
          การกำจัดหรืออำพรางขน นั้นทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การกัดสีขนด้วย Hydrogen peroxide เพื่อทำให้สีจางลง และเห็นไม่ชัด ซึ่งมักจะทำกับคนที่แขนแต่แท้จริงแล้วขนไม่ได้หายไป , การใช้ครีมกำจัดขนนั้นเป็นการทำให้เส้นขนขาดออกจากกัน โดยสารเคมีจะไปย่อยสลายพันธะทางเคมี (Disulfide Bond) ของเส้นขน ทำให้ขนขาดออกจากกัน วิธีการนี้คนที่เคยทำแล้วจะบอกว่าดีว่าแสบแค่ไหน เพราะสารที่ใช้มีความระคายเคืองต่อผิวหนังมาก, การถอนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เช่นเดียวกับการโกน หรือการใช้ขี้ผึ้งร้อน (Wax) ซึ่งอาจตามมาด้วยรูขุมขนอักเสบติดเชื้อ และรอยดำตามหลังการอักเสบ วิธีการทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ไม่ได้ทำให้ขนขึ้นใหม่ช้าลง และต้องทำซ้ำ แต่เป็นวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และเป็นทางออกที่สะดวกสำหรับหลายคน
 
          ในทางการแพทย์นั้น เดิมเรากำจัดขนด้วยการจี้ไฟฟ้า โดยการสอดเข็มเล็กๆ ที่มีฉนวนหุ้มเข้าไปในแต่ละรูขุมขน แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าต่ำๆ เข้าไปทำลายรากขน ซึ่งวิธีการนี้ให้ผลดี ถ้าทำอย่างถูกวิธี แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ และการเป็นแผลเป็น อีกทั้งเป็นขั้นตอนรักษาที่ใช้เวลามากพอสมควร ปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีด้าน laser พัฒนามากว่า 30 ปี เรามี laser และแสงหลายชนิดที่สามารถนำมากำจัดขนได้ผลดี แต่มีแง่มุมที่จะต้องพิจารณาในการกำจัดขนด้วย laser หรือแสงก็คือ สีผิว และสีของขน ลักษณะขนว่าเป็นขนหยาบ เช่น ขนรักแร้, ขนหน้าแข้ง หรือขนอ่อน เช่น ไรหนวด หรือขนที่แขน ทั้งนี้เพราะ laser ใช้หลักการที่เรียกว่า Selective photothermolysis ซึ่งจะเลือกแสงช่วงคลื่นที่ไวกับเม็ดสีของขน ซึ่งในที่นี้ได้แก่ สีดำของ melanin ที่อยู่ในขน ดังนั้น จึงพบว่า ขนที่สีอ่อน และขนที่เส้นเล็ก หรือขนอ่อน มักจะรักษาไม่ได้ผลดี เนื่องจากมีปริมาณ melanin น้อย นอกจากนี้คนที่ผิวสีเข้มมากๆ จะต้องระวังในการรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะเม็ดสีที่ผิวหนังอาจได้รับผลจากแสงไปด้วย ทำให้เกิดเป็นรอยด่างขาวที่ผิวหนังไปด้วย ทั้งที่เป้าหมายในการกำจัดคือ เส้นขนเท่านั้น
 
          ปัจจุบันความรู้ในเรื่องกายวิภาคของขน ทำให้เรารู้ว่า การกำจัดขนให้ถาวรนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องกำจัดส่วนปลายของรากขน หรือที่เรียกว่า hair bulb เท่านั้น แต่จะต้องทำลาย ส่วนของรากที่ใกล้กับกล้ามเนื้อที่มาเกาะกับขนที่เรียกว่า hair bulge ด้วย ดังนั้น laser รุ่นหลังๆ จึงมักมีช่วงกว้างของแสง (pulse width) ที่ยาวขึ้น เพื่อให้ความร้อนกระจายออกจากเส้นขนไปยังรากขนทุกส่วน ซึ่งเมื่อช่วงกว้างของแสงมากขึ้น ก็ต้องพัฒนาในมีกำลังของแสงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังต้องมีระบบทำความเย็นที่ดีมาก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหนังที่อยู่ส่วนบนด้วย ปัจจุบัน ในวงการแพทย์ เรามีเครื่อง laser ที่สามารถกำจัดขนได้ทุกสีผิว และขนาดของขน (แต่อย่างไรก็ตาม ขนเส้นใหญ่สีดำ ในคนผิวขาวยังเป็นขนที่กำจัดได้ผลดีที่สุดอยู่ดี) สำหรับ แสงความเข้มสูง หรือที่เรียกว่า IPL นั้น ก็สามารถนำมากำจัดขนได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจาก เครื่อง IPL มีหลากหลาย และหลายระดับราคา อุปกรณ์ที่ใช้ทำความเย็นให้กับผิวหนังยังคงเป็น การใช้ gel เย็นๆ (colling gel) ประกอบการที่ต้องใช้พลังงานแสงสูงมาก จึงมักมีผลข้างเคียงจากการรักษาด้วย IPL บ่อยๆ เช่นว่า เป็นรอยไหม้ แดง พอง หรือเป็นแผลเป็น ดังนั้น ผลที่ได้จากการกำจัดขนด้วย IPL จึงไม่แน่นอนสม่ำเสมอ (inconsistent) และต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์มากเพื่อให้ได้ผลดี ในหมู่แพทย์ผิวหนังจึงไม่นิยมใช้ IPL เพื่อมากำจัดขน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีการนำเอาเครื่อง IPL มาผนวกรวมกับ คลื่นความร้อนวิทยุ (Radiofrequency) โดยใช้หลักการทำงานร่วมกันของเครื่องมือทั้งสอง (ElectroOptical Synergy หรือ ELOS) ซึ่งใช้ IPL ในการล็อกเป้าหมายด้วยการจำกัดช่วงคลื่นแสงที่จำเพาะกับเป้าหมาย ซึ่งในที่นี้คือเส้นขน ทำให้เกิดความร้อนขึ้นในระดับหนึ่ง แล้วใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งจะไปสะสมคลื่นความร้อนยังตำแหน่งที่ถูกล็อคเป้าหมายไว้แล้ว ด้วยวิธีนี้ ผิวหนังด้านบน ซึ่งถูกทำให้เย็นลงด้วยระบบสัมผัส (contact cooling) จะมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียง (collateral damage) น้อยกว่าวิธีอื่น และให้ผลดีในการกำจัดขน ทั้งเส้นใหญ่ และขนอ่อน ทุกสีขน และทุกสีผิว
 
          สิ่งหนึ่ง ที่ผู้รับการกำจัดขนด้วย laser หรือแสงก็ตามจะต้องทราบก็คือ ขนที่ถูกกำจัดจะเป็นขนที่อยู่ในระยะงอก หรือ Anagen hair เท่านั้น ซึ่งปกติ ขนตามตัว จะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 30-40 % เท่านั้น หมายความว่า ขนที่เราเห็นอยู่ตามร่างกายนั้น เราเห็นเพียงแค่ 30-40 % ของจำนวนรากขนที่มีอยู่ทั้งหมดในบริเวณนั้น เมื่อทำการกำจัดขนไปหนึ่งครั้ง จึงมีขนที่ถูกกำจัดไปประมาณ 30% ของรากขนทั้งหมด ขนที่ไม่ได้ถูกกำจัดไปก็จะหมุนเวียนเข้ามาสู่ระยะงอก และต้องทำการกำจัดอีก ในลักษณะนี้ หลังจากทำไป 3 ครั้ง ในระยะห่างระหว่างครั้งประมาณ 4-6 สัปดาห์ จะมีขนที่ถูกกำจัดไปประมาณ 75% โดยที่ขนที่ยังเหลือ ถ้ามี ก็จะขึ้นช้าลง (growth retardation) และมีขนาดเล็กลง หรือกลายเป็นขนอ่อน หลังจากการรักษาครั้งสุดท้าย ถ้าขนไม่ขึ้นอีกหลังจากนั้น 6 เดือน ก็สามารถถือได้ว่า กำจัดขนได้อย่างถาวร ปกติแล้ว ขนแต่ละเส้นในบริเวณหนึ่งๆ จะมีอายุไม่เท่ากัน และทะยอยกันร่วง และหมุนเวียนเข้าสู่ระยะต่างๆ ของวงจรของขน แต่หลังจากทำการกำจัดขนไป 2-3 ครั้ง จะทำให้เกิดการ reset วงจรของขนในบริเวณนั้นใหม่ ทำให้ขนทุกเส้นเข้ามาสู่ระยะเดียวกันของวงจรของขน และเป็นผลให้การกำจัดขนในครั้งต่อๆ มา หรือการรักษาซ้ำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังการกำจัดขนแต่ละครั้ง อาจจะมีอาการบวมแดงรอบๆ รูขุมขนในบริเวณที่รักษา ซึ่งสามารถหายไปได้เอง หรือทำให้ดีเร็วขึ้นด้วยการทายาจำพวกเสตียรอยด์อ่อนๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ต้องการกำจัดขนจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อปรับความคาดหวังต่อผลการรักษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง


Copyright © 2014. All Rights Reserved.