Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ผม-และขน/8-โรคผมร่วงเป็นหย่อม): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516
โรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อม(Alopecia areata) นับว่าเป็นโรคผมร่วงที่พบบ่อยมาก ในเวชปฏิบัติของแพทย์ผิวหนัง ในประสบการณ์ส่วนตัว แทบจะไม่มีวันใดเลย ที่ออกตรวจแล้วไม่มีคนไข้ที่เป็นโรคนี้ คนไข้มักจะมาพบด้วยอาการผมร่วงหายไป เป็นหย่อมๆ หายไปเฉยๆ คือไม่มีอาการอะไร ไม่เจ็บไม่คัน แทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป และหนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงหายไปก็ดูปกติดี
บ่อยครั้งที่คนไข้ทราบว่าผมร่วงไปจากคนรอบข้าง หรือช่างผมประจำตัว บางครั้งก็เป็นวงเดียว บางครั้งก็มีหลายๆ วง หรือเป็นบริเวณกว้างๆ บางคนก็เป็นหมดทั้งศีรษะซึ่งเรียกว่า Alopecia totalis นอกจากที่ศีรษะแล้ว ก็ยังอาจเป็นกับส่วนอื่นที่มีขนด้วย เช่นที่คิ้ว ที่หนวด เครา ในรายที่เป็นมาก ขนก็อาจจะร่วงหายไปหมดทั้งตัวที่เรียกว่า alopecia universalis คนไข้ที่เป็นโรคนี้มีได้ตั้งแต่เด็กๆ ไปจนกระทั่งคนสูงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในวัย 20-40 ปีมากกว่า
สำหรับสาเหตุของการที่ผม หรือขนร่วงไปเป็นหย่อมๆ นั้น ไม่ทราบแน่ชัด รู้แต่ว่าเกิดจากมีความแปรปรวนไปของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง (Skin immune system) โดยพบเซลล์อักเสบมาล้อมรอบบริเวณรากผม ซึ่งเป็นเป้าหมายของการทำลาย ทำให้ผมหรือขนบริเวณนั้นหลุดร่วงไป ผมที่เป็นเป้าหมายของการทำลายจะเป็นผมที่อยู่ในระยะงอก (anagen hair) เมื่อทำการตรวจบริเวณขอบๆ ของบริเวณที่ร่วง อาจจะพบผมที่ถูกทำลายแต่ยังไม่ทันหลุดร่วงไป มีลักษณะลีบเล็กในบริเวณส่วนโคนผม ดูคล้ายกับเครื่องหมายตกใจ (!) คือปลายใหญ่กว่าโคน และผมที่ร่วงจะเป็นผมที่มีสีดำ ทำให้ผมที่เหลืออยู่ในบริเวณนั้น หรือแม้เมื่ออาการดีขึ้น ผมที่ขึ้นมาใหม่ๆ มักจะมีสีขาว ภาวะผมร่วงเป็นหย่อมนี้ อาจจะพบร่วมกับโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากการแพ้ภูมิตัวเอง เช่นโรค SLE หรือโรคของ ธัยรอยด์ หรือด่างขาว
ในการรักษานั้น มีอยู่ 2 แนวทาง แต่ที่ใช้กันมาก คือการยับยั้งการทำลายรากผม โดยการใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าไปเป็นจุดๆ ที่หนังศีรษะ หรือในกรณีที่เป็นมาก อาจจะต้องใช้แบบรับประทานร่วมไปด้วย โดยค่อยๆ ลดขนาดลงช้าๆ เมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้ก็ยังอาจจะใช้ยาทาที่เป็นสเตียรอยด์ หรือยาทาในกลุ่มที่ปลูกผมร่วไปด้วย การรักษาดังกล่าวจำเป็นต้องทำทุก 3-4 สัปดาห์ นาน 3-4 เดือนกว่าที่จะเริ่มมีการตอบสนอง ในกรณีที่ไม่มีการตอบสนองภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็อาจปรับแนวทางการรักษาไปอีกแนวหนึ่ง ซึ่งจะใช้สารเคมี หรือยาบางอย่างทาเพื่อให้เกิดการระคายเคืองที่หนังศีรษะ เพื่อไปรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนังในบริเวณที่ผมร่วง ในกรณีที่มีการตอบสนองต่อการรักษา ก็จะมีผมขึ้นมาให้เห็นได้ ทั้งนี้ควรให้เวลากับการรักษาแต่ละวิธี ไม่น้อยกว่า 3-4 เดือนก่อนที่จะสรุปว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษา
สำหรับพยากรณ์โรคนั้น พบว่าขึ้นกับหลายปัจจัย กล่าวคือ คนที่เป็นโรคดังกล่าวในอายุน้อย เป็นมากหลายวง หรือหมดทั้งศีรษะ เป็นบริเวณไรผม หรือเป็นร่วมกับโรคภูมิแพ้ มักมีพยากรณ์โรคไม่ดี คือไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือดีขึ้นในระยะสั้นๆ แล้วกลับมาร่วงใหม่อีก คนไข้ที่หายจากโรคแล้วบางส่วนก็หายโดยไม่เป็นอีก แต่ไม่น้อยที่กลับมาเป็นซ้ำอีก จึงควรจะสำรวจตัวเองดูเป็นระยะว่าเริ่มกลับมาร่วงอีกหรือไม่ เพื่อเริ่มการรักษาได้ทันท่วงที
คนไข้ที่มีปัญหาโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) มีจำนวนไม่น้อย เมื่อมาพบแพทย์มักมีข้อสงสัยว่า จะหายหรือไม่ และจะเป็นมากขึ้นหรือไม่ ข้อมูลทางการแพทย์แต่เดิมนั้น มีอยู่ว่า คนไข้ 34-50 % จะดีขึ้นและหายภายใน 1 ปี 15-25 % จะเป็นมากขึ้น และลามออกไปจนทั่วศีรษะ โดยในกลุ่มนี้ มีเพียงแค่ 10 % เท่านั้นที่จะมีอาการดีขึ้นบ้าง นอกจากนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ยังระบุด้วยว่า คนไข้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม ตั้งแต่อายุน้อย, มีโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย , มีโรคแพ้ภูมิตัวเองในครอบครัว, เป็นมาก, มีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บร่วมด้วย , มีความดันโลหิตสูง และมีแบบแผนของตำแหน่งที่ผมร่วงเป็นหย่อมบริเวณไรผม มักจะมีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี
ล่าสุด มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยติดตามคนไข้ที่เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมในระยะยาว โดยจำแนกตามกลุ่มอายุ คืออายุน้อย หมายถึงน้อยกว่า 14 ปี และอายุมาก คือมากกว่า 14 ปี และจำแนกตามความรุนแรง คือ S1 หมายถึงเป็นน้อยกว่า 25%, S2 หมายถึงเป็น 25-50 %, S3 หมายถึงเป็น 50-75 %, S4 หมายถึงเป็น 75-99 %, S5 หมายถึงเป็น 100 % ของพื้นที่หนังศีรษะ และ S5B2 หมายถึงนอกจากเป็น 100 % ของศีรษะแล้ว ยังเป็นกับขนทั้งหมดของร่างกายด้วย โดยถือว่า กลุ่ม S1, S2 เป็นกลุ่มที่เป็นน้อย กลุ่มที่เหลือคือกลุ่มที่เป็นมาก
ผลการศีกษาเพิ่มเติมดังกล่าวพบว่า ในกลุ่มที่อายุมาก พยากรณ์โรคจะขึ้นกับความรุนแรงที่เป็นเมื่อแรกมาพบแพทย์ โดยในกลุ่มที่เป็นน้อยคือ S1 และ S2 ประมาณครึ่งหนึ่งจะดีขึ้น และหายได้ ที่เหลือมักจะเป็นๆ หายๆ โดยมีส่วนน้อยที่เป็นมากขึ้น แต่ในกลุ่มที่เป็นมาก คือ S3 ขึ้นไป ส่วนใหญ่มักจะมีอาการแย่ลง โดยส่วนหนึ่งจำกลายเป็นผมร่วงหมดศีรษะ หรือหมดทั้งตัวในที่สุด ไม่ว่าการรักษาจะช่วยให้มีผมขึ้นชั่วคราวหรือไม่ ก็ไม่เปลี่ยนพยากรณ์โรค อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย immunotherapy จะมีแนวโน้มดีกว่ากลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และในกลุ่มคนไข้อายุน้อย โดยรวมแล้วมีพยากรณ์โรคที่ไม่ดี แม้ว่าจะเริ่มด้วยอาการที่เป็นไม่มาก คือ S1 หรือ S2 ก็ตาม ก็มักจะมีอาการเลวลงไปเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น
Facebook Social Comments