Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/การดูแลผิว/29-เครื่องสำอางเพื่อทำความสะอาดผิว): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516
การดูแลผิว
เครื่องสำอางเพื่อทำความสะอาดผิว
เนื่องจากผิวหนังชั้นขี้ไคลจะเคลือบด้วยน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวซึ่งสร้างจากเซลล์ผิวหนัง ต่อมไขมัน น้ำและเกลือแร่จากเหงื่อ ถ้าอากาศภายนอกสกปรก ฝุ่นละอองความสกปรกจากบรรยากาศและเครื่งสำอางจะเกาะรวมกับน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวทำให้เกิดเป็นคราบสกปรกขึ้น จึงจำเป็นต้องล้างสิ่งสกปรกและน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวส่วนเกินออก แต่การชำระล้างที่ถูกต้องควรเหลือน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อรักษาความนิ่มนวล ชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวหนังเพื่อเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
หลักการทำความสะอาดของผิวหนัง คือ ล้างสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำ หรือเช็ดความสกปรกออกด้วยน้ำมัน
1. การทำความสะอาดด้วยน้ำ
ในกรณีหน้าไม่สกปรกมาก การล้างด้วยน้ำเปล่าอาจเพียงพอ เพราะผิวหนังมีขบวนการทำความสะอาดเองได้ แต่ถ้าผิวหน้ามีคราบสกปรกมากจะต้องล้างด้วยสบู่ (soap) หรือสารลดแรงตึงผิว (surfactant) แต่ในบางกรณีการใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำ (clear lotion) ซึ่งสามารถเช็ดคราบสกปรกได้เช่นกัน
1.1 สบู่ก้อน สบู่ก้อนมี 2 แบบ คือ สบู่แบบดั้งเดิมทำจากไขสัตว์หรือไขพืชรวมตัวกับด่าง สบู่ก้อนในลักษณะดังกล่าวจะมีฤทธิ์เป็นด่าง (pH=10-11) ซึ่งบางท่านเกรงว่าจะระคายผิวหนังเพราะปกติผิวหนังจะมีฤทธิ์เป็นกรด (pH~5.2) จึงมีการพัฒนาสารสังเคราะห์มาใช้ทดแทนสบู่แบบดั้งเดิม สบู่ก้อนสังเคราะห์ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างน้อยลง (pH=8-9) แต่ราคาสบู่สังเคราะห์จะแพงกว่าและจากการวิจัยในระยะหลังพบว่าสบู่ทั้งสองแบบทำให้เกิดการแพ้หรือระคายใกล้เคียงกัน และการระคายเคืองไม่ใช่เกิดจากความเป็นด่างของสบู่ แต่เป็นจากไขมันที่นำมาใช้มากกว่า โดยพบว่าสบู่จากไขมะพร้าว (coconut oil) จะระคายกว่าสบู่ซึ่งทำจากไขวัว (tallow) และจากการวิจัยยังพบว่าเมื่อใช้สบู่ซึ่งมีค่า pH เป็นด่างจะทำให้ผิวหนังมี pH เปลี่ยนเป็นด่างเพียง 15 นาที และ pH ของผิวหนังสามารถปรับกลับปกติภายใน 30 นาที ดังนั้นการใช้สบู่ซึ่งมีความเป็นด่างจึงไม่มีอันตรายกับผิว ข้อเสียอีกประการหนึ่งของสบู่คือการตกตะกอนเป็นคราบสบู่ถ้าใช้กับน้ำกระด้าง แต่สบู่ก้อนก็ยังเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะราคาถูกและให้สะดวก
อาการระคายเคืองจากสบู่จะพบได้ในอาชีพซึ่งต้องแช่มือในน้ำสบู่นานๆ หรือการใช้สบู่มากเกินควรจะทำให้ผิวแห้ง ส่วนการแพ้กลิ่นหอมในสบู่อาจพบได้บ้างประปราย แต่ด้วยวิธีการใช้สบู่ ผู้ใช้จะล้างสบู่ออกอย่างรวดเร็ว การแพ้จึงพบน้อย ในปัจจุบันมีการผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสบู่ก้อนซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้แพ้ได้เช่นกัน และยาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ยังทำให้สมดุลย์ของเชื้อจุลินทรีย์เสียไป ดังนั้นสบู่ผสมสารฆ่าเชื่อจึงควรเลือกให้ในเฉพาะที่และเฉพาะบุคคลเท่านั้น
1.2 สบู่เหลว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารลดแรงตึงผิวประจุลบ (anionic sufactants) ที่นิยมใช้ คือ sodium lauryl ether sulfate ซึ่งมักจะผสมกับสาร fatty acid alkanolamide ซึ่งมีฤทธิ์ชำระล้างน้อยกว่า แต่จะช่วยเพิ่มฟองให้ดูน่าใช้ สารกลุ่มนี้ยังเป็นสารหลักในแชมพูสระผม สบู่เหลวจะมีความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 5-6 เท่ากับผิวหนัง และสามารถใช้ในน้ำกระด้างได้ดี สบู่เหลวจะชำระล้างได้ดีกว่าสบู่ก้อนจึงอาจทำให้ผิวแห้งได้ ราคาสบู่เหลวจะแพงกว่าสบู่ก้อน
สบู่เหลวบางสูตรอาจใช้สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุผสม (amphoteric surfactants) เช่นสาร betaines ซึ่งนิยมใช้ในสูตรสบู่อ่อนและแชมพูเด็กเพราะไม่ระคายเยื่อบุตา แต่ฟองจะน้อยและราคาแพง ในสบู่เหลวจำเป็นต้องผสมสารกันบูด กลิ่นและสี แต่มักไม่คอยทำให้เกิดอาการแพ้
โดยสรุปการใช้สบู่ก้อนหรือสบู่เหลวจะได้ผลการล้างชำระได้ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งจะทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้
1.3 ครีม เนื่องจากครีมจะมีสารลดแรงประจุ (surfactant) ผสมอยู่ในเนื้อครีม เมื่อใช้ทาผิวหนังแล้วล้างน้ำตาม สารลดแรงตึงผิวจะช่วยขจัดคราบสกปรกได้และน้ำมันซึ่งใช้ผสมในครีมก็จะช่วยชำระล้างสารซึ่งละลายน้ำมันได้ด้วย การใช้ครีมล้างผิว จะไม่ทำให้ผิวแห้ง เพราะน้ำมันในครีมจะเหลือค้างที่ผิว แต่ราคาของครีมจะแพงกว่าสบู่ และครีมจะไม่มีฟองจึงทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าไม่สะอาด และส่วนผสมของครีมมีสารหลายชนิด เช่น ไขและน้ำมันต่างๆ สารกันบูด สารต้านออกซิเดชั่น กลิ่น สี ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้
2. การทำความสะอาดด้วยน้ำมัน
น้ำมันจะล้างสิ่งสกปรกได้ดี โดยเฉพาะถ้าสารนั้นละลายได้ดีในน้ำมัน และการใช้น้ำมันเช็ดล้างผิวจะช่วยให้ผิวไม่แห้งและไม่เกิดอาการระคายเช่นการใช้สบู่หรือสารลดแรงตึงผิว แต่ผิวหลังเช็ดล้างด้วยน้ำมันจะเหลือคราบความมันอยู่ ผู้บริโภคหลายท่านจึงไม่ค่อยนิยมใช้ ยกเว้นในบริเวณใบหน้าของผู้ใช้เครื่องสำอางมักนิยมใช้น้ำมันเช็ดเครื่องสำอางออก เพราะน้ำมันจะทำความสะอาดเครื่องสำอางได้ดีกว่าน้ำ แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ครีมหรือโลชันแทนน้ำมันมากกว่า เพราะในครีมจะมีทั้งน้ำ น้ำมันและสารลดแรงตึงผิวในปริมาณต่ำ เมื่อใช้อาจได้ผลดีกว่าใช้น้ำมันหรือน้ำ โดยส่วนผสมของน้ำมันช่วยเช็ดความสกปรกซึ่งละลายในน้ำมันออกน้ำและสารลดแรงดึงผิวก็ช่วยกำจัดคราบได้อีกและน้ำมันบางส่วนจะเหลือหลังทำความสะอาดช่วยให้ผิวไม่แห้งและความเหนอะหนะจะน้อยกว่าการใช้น้ำมันเช็ดทำความสะอาด ครีมล้างหน้าหรือโลชันล้างหน้าจะมีราคาแพง และข้อเสียของครีมหรือโลชัน คือการแพ้สารส่วนประกอบของครีมหรือโลชัน เช่น สารกันบูด สารกันหืน กลิ่นหรือสี ฯลฯ เช่น เกิดเป็นผื่นลมพิษเฉพาะที่ (contact urticaria) ผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis) ผื่นแพ้แบบรอยดำเพราะการสะสมของสาร (pigmented cosmetic dermatitis) และส่วนประกอบซึ่งเป็นน้ำมันบางชนิดอาจอุดตันรูขุมขน (comedogenic) จะทำให้เกิดสิวขึ้นได้
3. ครีมหรือโลชันชนิดโฟม (Wash-off form)
เนื่องจากครีมหรือโลชันที่ใช้ในการทำความสะอาดผิวจะไม่มีฟองเหมือนกับการใช้สบู่ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมใช้สารชำระล้างที่มีฟอง ผลิตภัณฑ์ครีมทำความสะอาดผิวจึงพัฒนาเป็นโฟมโดยผสมสารทำให้เกิดฟองเพิ่มขึ้นในครีมหรือโลชัน เพื่อให้การชำระล้างมีฟองเช่นการให้สบู่แต่ช่วยให้ผิวไม่แห้งเพราะมีครีมผสมอยู่ แต่ผลเสียของครีมจะยังพบในผู้ซึ่งใช้โฟมทำความสะอาดผิวและสารลดแรงตึงผิวซึ่งทำให้เกิดฟองจะทำให้ผิวแห้ง
4. การชำระล้างผิวโดยการฟอกหรือลอกผิว (facial pack and mask)
โดยใช้ของเหลวซึ่งมีส่วนผสมของไขมัน (wax) ยาง (rubber) ยางสังเคราะห์ (vinyl resin, gum) หรือโคลน (clay) ทาหรือพอกบริเวณผิวซึ่งสกปรกไว้ที่ผิวชั่วขณะสารเหล่านี้จะแห้งเป็นแผ่นหน้ากากใสหรือแห้งแบบหน้ากากแป้ง เมื่อดึงหน้ากากออกจะช่วยขจัดความสกปรกออกได้ ในการฟอกหรือลอกผิวมักนิยมผสมสารเพิ่มความชุ่มชื้น เช่น กลีเซอรีน สารกระชับรูขุมขนประเภท alum หรือสารสกัดจากพืช เช่น chamomile ฯลฯ ส่วนการพอกด้วยโคลนซึ่งเป็นแป้งทึบแสง เช่น kaolin, magnesium carbonate, titanium dioxide, starch จะช่วยลดความมันของผิวได้ด้วย การชำระล้างวิธีนี้จะยุ่งยากเสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่จะให้ความรู้สึกดี ผลเสียคือการแพ้สารซึ่งผสมในผลิตภัณฑ์