Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ปัญหาผิวหนัง/14-โรคสะเก็ดเงิน): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

โรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่พบบ่อย โดยพบได้ 2-4 % ของประชากร   คนไข้จะมาด้วยอาการผื่นที่ผิวหนัง ศีรษะ และเล็บ และยังอาจจะมีอาการทางข้อร่วมไปด้วย   ผื่นที่พบในโรคสะเก็ดเงินมี 2 ลักษณะ คือ เป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดเป็นสีขาว และมักพบบริเวณข้อเข่า ข้อศอก หน้าแข้ง หรือบริเวณที่มีการสัมผัสเสียดสีบ่อย เช่น แขน หน้าแข้ง สะโพก และที่หนังศีรษะ  กับอีกลักษณะหนึ่งคือมาด้วยอาการเป็นตุ่มหนองเล็กๆ ซึ่งอาจจะเป็นทั่วไป หรือเป็นเฉพาะที่ เช่นใต้เล็บ ฝ่ามือ เท้า ก็ได้
 
          คนไข้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยทั่วไปแยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นในคนอายุน้อย หรือเป็นมาตั้งแต่เด็ก กับที่เป็นในผู้ใหญ่ หรือมาเป็นเมื่อโตแล้ว ในกลุ่มแรกมักจะพบว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย โดยอาจจะพบร่วมกันหลายคนในครอบครัว   แต่ในกลุ่มหลังจะพบลักษณะการถ่ายทอดทางกรรมพันธ์น้อยกว่า คือมักพบว่าเป็นขึ้นมาเอง เป็นคนเดียวในครอบครัว
 
          ปัจจุบันถือว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่ง (Autoimmune disease)  ซึ่งพบในคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นอยู่แล้ว หรือมีปัจจัยทางกรรมพันธ์ และถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือมีความแปรปรวนไปของระบบภูมิคุ้มกัน  ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เป็น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ความเข้าใจในกลไกการเกิดโรค มีความก้าวหน้าไปพอสมควร ทำให้มีความก้าวหน้าในวิธีการรักษาพยาบาลไปมาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการที่จะรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาดได้
 
          โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ โดยทั่วไป ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพในแง่ที่จะบั่นทอนให้อายุขัยของผู้ที่เป็นสั้นลง เช่นเดียวกับการเป็นโรคเบาหวาน หรือความดัน   แต่ก็เป็นโรคที่ทำให้ผู้ที่เป็นมีความทุกข์กายและทุกข์ใจ  ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความลำบาก  อีกทั้งเป็นโรคเรื้อรัง ในรายที่ผื่นเป็นมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเป็นภาระกับผู้ป่วยและครอบครัวอย่างยิ่ง   จึงเป็นโรคที่สังคมควรจะให้ความสำคัญ และเห็นอกเห็นใจผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ ในต่างประเทศมีการรวมกลุ่มของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการรักษาพยาบาล ตลอดจนความก้าวหน้าในความรู้ที่เกี่ยวกับโรค ตลอดจนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในผู้ที่มีปัญหา
 
          มีปัจจัยหลายประการที่กระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้น ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินจะต้องหลีกเลี่ยง เช่น ความเครียด, ความเจ็บป่วย, การติดเชื้อ Streptococcus ซึ่งคนไข้อาจจะมาด้วยอาการคอเจ็บคออักเสบ, การเกิดบาดแผล ขีดข่วนตามร่างกาย, อากาศหนาวเย็น, การตากแดดมากเกินไป และการรับประทานยาบางชนิด
 
          ดังนั้น การดูแลสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจให้สมบูรณ์ไว้ตลอดเวลา ยังเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกโรคอยู่ดี
 
          การรักษาโรคสะเก็ดเงิน ในรายที่ผื่นเป็นไม่มาก เช่น ไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวหนัง การใช้ยาทายังเป็นวิธีการหลัก ซึ่งถ้าเป็นที่ศีรษะ ยาที่ใช้ก็จะอยู่ในรูปของแชมพู และยาทาหนังศีรษะหลังสระ สำหรับผื่นที่ตัว ยาที่ใช้ได้มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เป็นสเตียรอยด์, น้ำมันดิน , Anthralin, อนุพันธ์ของวิตามินดี  ผลจากการรักษาโดยการทายา จะทำให้อาการดีขึ้น ผื่นลดน้อยลง แต่มักจะไม่ถึงกับหายไปทั้งหมด  ในรายที่เป็นมาก นอกจากการทายาแล้ว ยังอาจจะต้องรับประทานยาร่วมไปด้วย ซึ่งยาที่ใช้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผิวหนัง  ต้องมีการตรวจเลือดเป็นระยะๆ   นอกจากนี้ในบางรายที่เป็นมาก และมีความสะดวกที่จะเข้ารับการรักษาหรือมีข้อห้ามที่จะรับประทานยา ก็สามารถที่จะรับการรักษาโดยการฉายแสงได้ แสงที่ฉายเป็นแสงในช่วงคลื่นอุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งอยู่ในแสงแดดอยู่แล้ว แต่กรองมาเฉพาะช่วงคลื่นที่มีประโยชน์ต่อการรักษา การรักษาด้วยวิธีนี้ คนไข้จะต้องมาเข้ารับการฉายแสงสัปดาห์ละ 2 ถึง 4 ครั้ง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง เพื่อให้ผื่นหายไปหมด หรือหายไปมากพอ  แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่วิธีการรักษาที่หายขาด และผิวหนังบริเวณที่รับแสงก็จะมีสีเข้มคล้ำขึ้นด้วย ซึ่งจะจางหายไปเมื่อหยุดฉายแสงแล้ว สำหรับอาการที่เล็บซึ่งมักจะมีผื่นสะเก็ดเงินที่บริเวณรอบๆ เล็บร่วมด้วย การรักษานั้นยาก และไม่ค่อยได้ผลดี นอกจากในรายที่ต้องรับประทานยา เนื่องจากมีผื่นที่ผิวหนังมาก เล็บก็จะมีอาการดีขึ้นด้วย ซึ่งในรายที่เป็นที่เล็บมาก แต่ไม่ค่อยมีผื่นตามตัว การรับประทานยาในกรณีนี้ ก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับสุขภาพโดยรวม   การรักษาในกรณีนี้ อาจจะใช้การฉีดยาพวกสเตียรอยด์ เข้าไปใต้เล็บ ซึ่งมีความเจ็บปวดมากพอสมควร จะทำให้ดีขึ้นได้ หรือการใช้ Laser บางชนิด หรือแสง UVB ที่ความเข้มสูง (Intensed UVB) ฉายเฉพาะที่บริเวณรอบๆ เล็บก็เป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับคนไข้กลุ่มนี้ เพื่อให้อาการที่เล็บดีขึ้น และไม่เกิดผลข้างเคียงมากนัก
 
          ปัจจุบัน มีการรักษาแบบใหม่ ที่เรียกว่า Biological treatment หรือ Immunomodulation ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อไปปรับเปลี่ยนกลไกทางระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าสามารถทำให้คนไข้ระยะสงบของโรคได้นาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาทาจำนวนมากๆ  และไม่ต้องมารับการฉายแสงสัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง ซึ่งเป็นการไม่สะดวกสำหรับคนที่ต้องทำงาน การรักษาแบบนี้ให้ผลดี และมีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาให้ผลการรักษาด้วยวิธีนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถทำให้โรคนี้หายขาดได้  ยาที่ใช้รักษายังอยู่ในรูปของยาฉีดเข้ากระแสเลือด หรือใต้ผิวหนัง ซึ่งจะต้องฉีดทุก 2 หรือ 4 สัปดาห์แล้วแต่ชนิด แต่ไม่ได้ฉีดไปเรื่อยๆ การฉีดจะฉีดเป็นคอร์สเพื่อให้ได้ระยะสงบของโรค และจะมีการพักไประยะหนึ่ง ถึงจะเริ่มฉีดอีก   อย่างไรก็ตาม ยาที่ใช้รักษาปัจจุบันยังมีราคาแพงมากในระดับแสนบาทต่อคอร์สของการรักษา และไม่มีบริการทั่วไป ขณะที่เขียนนี้มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติม ดูได้จาก web ชมรมโรคสะเก็ดเงิน


Copyright © 2014. All Rights Reserved.