Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/สิว/6-การแก้ไขรอยจากสิว): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516
การแก้ไขรอยจากสิว
เมื่อสิวหายแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งซึ่งปกตินานๆ จะเป็นสิวสักที ก็อาจจะหยุดยาทั้งหมดได้เลย (เรียกว่าเป็นทีรักษาที) แต่คนที่เป็นสิวอยู่เรื่อยๆ หรือสิวที่เป็น เป็นแบบที่เป็นมาก หรือต้องทานยาเพื่อรักษาให้ยุบลงไป คนไข้กลุ่มนี้อาจจำเป็นที่จะต้องทายาต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่ยังอยู่ในวัยที่เป็นสิวได้ง่าย ทั้งนี้เพราะไม่คุ้มที่จะปล่อยให้เป็นมากขึ้นมาอีก เนื่องจากทุกครั้งที่เป็นสิว ย่อมจะต้องทิ้งรอยแผลเป็นไว้บ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งรอยแผลเป็นบางอย่าง ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่ทั้งนี้จะมีการปรับยาทา ให้คงไว้เฉพาะยาในกลุ่มที่จะช่วยลดการอุดตันที่รูขุมขนเป็นหลัก เพื่อลดโอกาสที่สิวจะกลับมาใหม่
การรักษารอยแผลเป็นจากสิว รอยแผลเป็นจากสิว อาจแบ่งได้เป็น รอยที่เป็นเรื่องของสี (รอยดำ หรือรอยแดง) และ รอยที่เป็นเรื่องของพื้นผิว (รอยบุ๋ม หรือรอยนูน) นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาว่าเป็นรอยใหม่ หรือรอยเก่าด้วย
ในกรณีของรอยดำ เมื่ออาการของสิวดีขึ้นแล้ว แพทย์มักจะให้ใช้ยากันแดดได้ เพราะแสงแดดมักจะทำให้รอยดำ ดำยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ยากันแดดที่จะใช้ จะต้องเลือกที่ไม่มันเป็นสำคัญ สำหรับความสามารถในการป้องกันแสงแดด ในกรณีที่ไม่ได้เป็นฝ้าหรือกระร่วมไปด้วย และไม่ได้ออกแดดมาก SPF (Sun protection factor)ขนาด 15 ก็นับว่าเพียงพอ นอกจากนี้ การใช้ยาที่มีส่วนประกอบของ hydroquinone , licorice, kojic acid หรือ arbutin ซึ่งเหล่านี้เป็นสารที่ลดการทำงานของเซลล์สร้างสี ก็จะช่วยให้รอยดำจางไปได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้จะได้ผลดีเฉพาะกรณีที่สิวเพิ่งหาย และรอยดำเพิ่งเป็นมาไม่นาน ในทางตรงกันข้าม รอยดำที่เป็นมานานแล้ว ซึ่งหมายถึงเซลล์สร้างสีไม่ได้ทำงานมากกว่าปกติแล้ว แต่ยังคงมีเม็ดสีที่สะสมอยู่ในบริเวณรอยดำ การใช้ยาในกลุ่มที่จะทำให้มีการผลัดเซลล์ผิวออก เช่น AHA หรือ BHA ตลอดจนการลอกหน้าด้วยสารเคมี หรือการทำ microdermabrasion จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งใน 2 กรณีหลังนี้ จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจทำให้เกิดการอักเสบ และดำยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ได้
ในกรณีของรอยแดง โดยทั่วไปรอยแดงเป็นเพราะเส้นเลือดขยายตัว เมื่อสิวหายใหม่ๆ ในส่วนของสิวอักเสบที่ยุบตัวลง บริเวณดังกล่าวจะบางกว่าผิวหนังรอบข้าง ทำให้เห็นเส้นเลือดที่อยู่ข้างใต้ การแก้ไขรอยแดงด้วยยาทำไม่ได้ ทำได้เพียงแค่ทายากันแดด และหลีกเลี่ยงความร้อน เพื่อไม่ให้เส้นเลือดขยายตัว และเห็นรอยแดงชัดเจนขึ้น และต้องรอเวลาให้ผิวหนังซ่อมแซม หนาตัวขึ้น รอยแดงจะดูดีขึ้น และต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ยาทาในกลุ่ม retinoic acid หรือ retinol ซึ่งปกติใช้ทาเพื่อลดการอุดตันของรูขุมขนนั้น ก็มีคุณสมบัติที่จะช่วยกระตุ้นการสร้าง collagen ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ผลดังกล่าวต้องใช้เวลานาน และอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม มีเครื่องมีบางอย่างที่สามารถนำมาใช้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งได้แก่ Laser ชนิด pulsed dye laser ซึ่งมีช่วงคลื่นแสงที่จำเพาะกับฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดแดง หรือ IPL (Intensed Pulsed Light) ซึ่งเป็นแสงที่มีความเข้มข้นสูง และมีช่วงคลื่นกว้าง เมื่อใช้ตัวกรองเพื่อตัดช่วงคลื่นที่มีความจำเพาะกับฮีโมโกลบิน ก็สามารถทำให้เกิดการทำลายหลอดเลือดในบริเวณดังกล่าวได้ผลเช่นเดียวกัน ปัจจุบัน มีเครื่องมือที่จับคู่ระหว่าง IPL กับ คลื่นวิทยุ (Radiofrequency) ซึ่งสามารถให้ความร้อนกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Dermal matrix heating) ความร้อนในระดับ 60 ถึง 70 องศาเซลเซียส จะทำให้เซลล์ใต้ผิวหนังชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Fibroblast ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ในระยะพัก กลายเป็น Fibrocyte และมีคุณสมบัติในการสร้าง collagen และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง ซึ่งผลที่ได้ก็คือ นอกจากรอยแดงจากหลอดเลือดที่ขยายตัวจะลดลงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการสร้าง collagen ให้แผลเป็นที่เป็นรอยบุ๋มตื้นเร็วขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม รอยแผลเป็นที่เป็นรอยบุ๋มที่เก่าแล้ว (ไม่แดง) การแก้ไขจะมีขั้นตอนมากกว่านี้มาก ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ในกรณีของรอยที่เป็นพื้นผิว (บุ๋ม หรือ นูน) ถ้าเป็นรอยนูน หรือที่เรียกว่า Acne keloidalis อาจจะต้องแก้ไขด้วยการฉีดยา, ผ่าตัด หรือใช้ laser บางชนิดเพื่อช่วยให้ดูดีขึ้น แต่รอยแผลเป็นจากสิวแบบนูนนี้ก็พบไม่บ่อยเท่ากับ รอยแผลเป็นจากสิวซึ่งเป็นรอยบุ๋มๆ ถ้าเป็นรอยบุ๋มใหม่ๆ ที่ยังแดงอยู่ ก็อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการข้างต้น แต่ในรอยที่เก่าแล้ว จะต้องพิจารณาจากลักษณะของรอยและที่เป็นและจำนวน ลักษณะของรอยแผลจำแนกได้เป็น รอยบุ๋มตื้นกว้าง (rolling), รอยบุ๋มลึกแบบกว้าง (boxcar), รอยบุ๋มลึกแบบแคบ (pitted or ice pick)
1. Ice pick scar หรืออาจจะเรียกว่า pitting คือเป็นรอยเจาะลงไป เหมือนลิ่ม ลึกลงไปจากผิวหนัง ซึ่งรอยแผลเป็นแบบนี้ แนะนำให้ใช้วิธีการที่เรียกว่า punch excision ซึ่ง จะใช้เครื่องมื่อเจาะผิวหนังลงไป ขนาดประมาณ 2-3 มม.แล้วเย็บปิดแผลด้วยไหมเล็กๆ
2. Rolling ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยบุ๋มๆ เนื่องมาจากมีพังผืดยึดก้นรอยไว้กับผิวหนังชั้นล่าง ลักษณะเหมือนกับเวลาเราเอานิ้วกดลงไปบนดินน้ำมัน รอยแบบนี้แก้ไขด้วยวิธีการที่เรียกว่า subcision ซึ่งเป็นการใช้มีดหรือเข็มที่ดัดแปลงมา มีขนาดเล็ก แทงเฉียงๆ ลงไปรอบๆ รอยบุ๋มดังกล่าว แล้วตัดพังผืดให้ขาดพอที่จะยกรอยบุ๋มให้ลอยขึ้นมาได้
3. Boxcar ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยบุ๋มที่ขอบชัน เหมือนกับเวลาที่เราเอาเหรียญกดลงไปบนดินน้ำมัน ซึ่งรอยแบบนี้อาจจะเป็นแบบตื้นหรือลึก และแคบๆ หรือกว้างก็ได้ วิธีการรักษา คือในกรณ๊ที่เป็นแบบตื้น ใช้วิธีกรอผิวออกด้วย laser (Carbondioxide laser หรือ Erbium Yag laser) แต่ถ้าเป็นแบบลึก ถ้าแคบก็ใช้วิธีการ punch excision หรือ ถ้ากว้างก็ใช้วิธีการที่เรียกว่า punch elevation ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือเจาะหนังลงไปเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้เจาะให้ขาดทิ้งไป เพียงแต่เจาะแล้วยกขึ้นมาให้ลอยอยู่ในระดับเดียวกับผิวหนังข้างๆ แล้วยึดเอาไว้
การรักษาที่ถือว่าเป็นมาตรฐานดั้งเดิม คือการกรอผิวหนังออกด้วย Laser หรือ Abrative resurfacing (Laser ที่ใช้คือ Carbondioxide laser หรือ Erbium-Yag Laser) โดยที่ผิวหนังชั้นนอก คือ หนังกำพร้า และส่วนบนของชั้นหนังแท้จะถูกกรอออกไปด้วยความร้อนสูง และความร้อนที่แผ่ลงมาในชั้นที่ลึกกว่าจะกระตุ้นให้มีการสร้าง collagen ขึ้นใหม่ ด้วยวิธีการดังกล่าว สามารถแก้ไขรอยแผลเป็นให้ดีขึ้นได้ประมาณ 70-80 % เมื่อเทียบกับของเดิม แต่คนไข้จะมีปัญหาเรื่องสีผิว คือ จะมีอาการแดงอยู่นานเป็นเดือนๆ และตามด้วยรอยดำในบริเวณที่ทำ หรือเกิดเป็นรอยด่างขาวได้ ดังนั้นจึงมักจะกรอไปหมดทั้งหน้า ซึ่งทำให้ต้องพักฟื้นอยู่นานหลังการรักษา อีกทั้งปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ ก็มี การติดเชื้อทั้งแบคทีเรีย และเริม ตลอดจนอาจเป็นรอยแผลเป็นได้ และการรักษาจะต้องทำซ้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้งเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ดังนั้นปัจจุบัน การแก้ไขรอยแผลเป็นในระดับนี้ จึงไม่เป็นที่นิยม และไม่สะดวกสำหรับคนไข้ส่วนใหญ่ ทุกวันนี้รอยแผลในระดับนี้นิยมที่จะแก้ไขด้วยวิธีการที่ไม่ต้องกรอเอาผิวหนังทิ้งไป หรือ nonabrative resurfacing ร่วมไปกับเทคนิกต่างๆ สำหรับรอยแผลเป็นแต่ละชนิด เช่นการกรีดใต้ผิวหนัง (subcision) เพื่อตัดพังผืดที่ดึงรั้งผิวหนังให้บุ๋มลงไป
สำหรับรอยแผลเป็นแบบกว้าง การลอกผิวตื้นๆ เพื่อลดขอบของรอยบุ๋มที่ลึก (ด้วยการกรอผิวออกเฉพาะจุดด้วย laser หรือการกรอผิวออกตื้นๆ ด้วยผง aluminium oxide ที่เรียกว่าทำ microdermabrasion หรือการลอกหน้าด้วยสารเคมี ที่เรียกว่า chemical peeling) ตลอดจนการเจาะตัดเอาผิวหนังส่วนที่เป็นรอยบุ๋มลึกแบบแคบออก แล้วเย็บปิดเป็นจุดๆ ไป หรือเจาะตัดเอาผิวหนังส่วนอื่นมาปะลงไปแทน ซึ่งการใช้เทคนิกหลายๆอย่างร่วมกันดังที่กล่าวไปแล้ว จะช่วยลดผลแทรกซ้อนต่างๆ ที่พบเมื่อรักษาด้วยการลอกผิวออกให้น้อยลง แต่ประสิทธิภาพของการรักษาที่ไดัมักจะอยู่ที่ดีขึ้นมากพอสมควร
สำหรับการรักษารอยแผลเป็นลักษณะดังกล่าวที่ให้ผลอยู่ระหว่าง abrative กับ non abrative resurfacing นั้น ปัจจุบันก็มี laser ที่กรอผิวออกบางส่วน เป็นจุดๆ เหลือผิวเดิม เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น ที่เรียกว่า Fractional resurfacing ผลข้างเคียงจะน้อยกว่า การกรอผิวออกไปทั้งหนา แต่ผลการรักษาก็จะดีกว่า nonabrative resurfacing อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเรื่องรอยดำหลังจากการทำอยู่เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ไม่อาจแก้ไขรอยแผลเป็นจากสิวได้ 100% จนผิวหนังกลับมาอยู่ในสภาพเหมือนกับไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้น การรักษาสิวแต่เนิ่นๆ อย่างถูกวิธีจึงเป็นความจำเป็น ในอันที่จะหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาแก้ไขรอยแผลเป็นจากสิว
Facebook Social Comments