Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/เลเซอร์-และ-ทรีตเมนต์/34-rf-radio-frequency): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

RF (Radio Frequency)

          มีการใช้ Radiofrequency ในทางการแพทย์มากว่า 20 ปี แต่เป็นการใช้ในลักษณะของเครื่องจี้ไฟฟ้า เพื่อใช้ในการตัด จี้ห้ามเลือด และกำจัดขน (Electrolysis) แต่ในระยะ 5 ปีมานี้ มีการนำเอา radiofrequency มาใช้ในเวชปฏิบัติผิวหนังในลักษณะของการลดริ้วรอย ดึง และกระชับใบหน้า ซึ่งได้ผลดีพอควร และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐในข้อบ่งชี้ดังกล่าว

          RF เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic radiation) ที่มีความถี่ในระดับ 3 KHz จนถึง 300 GHz ผลของ RF กับผิวหนังทำให้เกิดคลื่นพลังงานความร้อน (plasma) และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อเยื่อผิวหนัง โดยทำให้เส้นใยคอลลาเจน หดตัว อีกทั้งความร้อนที่เกิดขึ้น จะกระตุ้นให้เซลล์ fibroblast เปลี่ยนเป็น fibrocyte ซึ่งมีความสามารถในการสร้างคอลลาเจน และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (ground substances) ผลทั้งสองอย่างนี้จะทำให้ผิวหนังกระชับขึ้น เต่งตึงขึ้น และลดริ้วรอยชนิดละเอียด (Fine wrinkle) ตลอดจนร่องลึกที่ผิวหนัง (Static deep wrinkle) ให้ดูดีขึ้นได้ พลังงานจาก RF ที่กระทำกับผิวหนังมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากยังห่างไกลจากพลังงานในระดับที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม (10 eV) ที่ได้จากกัมมันภาพรังสี (Ionizing radiation) อย่างไรก็ตาม การที่ RF ไม่มีเป้าหมายที่จำเพาะในเนื้อเยื่อ ซึ่งต่างจากเลเซอร์ การควบคุมพลังงานความร้อนที่แผ่กระจายลงไปใต้ผิวหนังให้อยู่ในระดับที่ต้องการ และป้องกันผลของความร้อนที่เกิดขึ้นกับชั้นบนของผิวหนังจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เครื่อง RF จะมีอุปกรณ์ทำความเย็นกับผิวหนังชั้นบน ด้วยสเปรย์เย็น (Cryogen spray) หรืออุปกรณ์ความเย็นชนิดสัมผัส (Contact cooling) และมักจะมีอุปกรณ์ตรวจจับอุณหภูมิ และความต้านทานหรือเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าของเนื้อเยื่อ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงเพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อนที่มากเกินไป กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่มีการใช้ RF มา เคยมีรายงานการเกิดแผลเป็น ตลอดจนอันตรายที่เกิดกับเส้นประสาทซึ่งอยู่ใต้ผิวหนังมาแล้วเป็นระยะๆ ซึ่งเชื่อว่าจะลดน้อยลง เมื่อเครื่อง RF ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ


          ล่าสุด มีการนำเอา แสงความเข้มสูงที่เรียกว่า IPL (Intense Pulsed Light) หรือ เลเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีลักษณะจำเพาะกับเป้าหมาย มาใช้ร่วมกับ RF ในเครื่องเดียวกัน โดยอาศัยหลักการของ IPL หรือ เลเซอร์ ในช่วงคลื่นที่จำเพาะกับเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นเม็ดสี หลอดเลือด เส้นขน ฉายนำไปก่อนด้วยพลังงานที่ไม่สูงนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เป้าหมายมีอุณภูมิสูงขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีความสามารถในการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้ามากกว่าเนื้อเยื่อข้างเคียง เมื่อฉาย RF ตามไปติดๆ ก็จะทำให้คลื่นความร้อนที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า ไปสะสมที่เป้าหมาย คล้ายกับจรวด missile ที่พุ่งเข้าหาเป้าความร้อน หลักการนี้เรียกว่า ElectroOptical Synergy (ELOS) ด้วยวิธีการดังกล่าว เป็นการดึงเอาจุดเด่นของ IPL หรือ เลเซอร์ มาร่วมกับจุดเด่นของ RF และลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของอุปกรณ์แต่ละอย่าง ผลการรักษาที่ได้ นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจทีเดียว
ในการรักษาด้วย RF นั้น เนื่องจากเป็นการผ่านคลื่นความร้อนจากกระแสไฟฟ้า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสัมผัสของขั้วไฟฟ้ากับผิวหนัง โดยมีการทาเจลที่เป็นสื่อกระแสไฟฟ้า ลงบนผิวหนังคล้ายกับการทำ IPL แต่ใช้เจลน้อยกว่า เพียงเพื่อให้เกิดการนำกระแสไฟฟ้า และขั้วทั้งสองของอุปกรณ์จะต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ซึ่งต่างกับ IPL ซึ่งต้องยกส่วนหัวของอุปกรณ์ฉายแสงสูงกว่าระดับผิวหนัง 1-3 มม.


          ในการรักษาด้วย RF นั้น อาจจะต้องใช้ยาชาชนิดทา ที่ผิวหนังก่อนประมาณ ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงเพื่อลดอาการเจ็บปวด หลังจากทำแล้ว คนไข้สามารถแต่งหน้า และกลับไปทำงานได้ตามปกติทันที การรักษาด้วย RF เพื่อให้ได้ผลดี จำเป็นที่จะต้องรับการรักษาซ้ำเป็นระยะอย่างน้อย 3-6 ครั้ง


Copyright © 2014. All Rights Reserved.