Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/เลเซอร์-และ-ทรีตเมนต์/47-เลเซอร์ผิวหนัง): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

เลเซอร์ผิวหนัง

เลเซอร์ (Laser) ย่อมาจากคำว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation เทคโนโลยี เลเซอร์ มีการประดิษฐ์คิดค้นมากว่า 40 ปี และในทางผิวหนังมีการนำมาใช้อย่างจริงจังกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันถือได้ว่า เทคโนโลยีด้านเลเซอร์นี้มีความนิ่ง ปลอดภัยสูง ผ่านการศึกษามามากจนได้มาตรฐานการรักษา ให้ผลดี สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้หลายชนิด ซึ่งไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการอื่น

          เมื่อพูดถึง เลเซอร์ผิวหนัง คนส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่า เลเซอร์มีเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วเลเซอร์มีหลายชนิดขึ้นกับแหล่งกำเนิดของแสงเลเซอร์ และมีข้อบ่งชี้ในการใช้แตกต่างกัน หลักการของเลเซอร์ผิวหนัง อาศัยหลัการที่ว่า Selective Photothermolysis

กล่าวคือในการทำงานของ เลเซอร์เพื่อให้เกิดผลของการรักษานั้น อาศัยการทำให้เกิดความร้อนขึ้นในตำแหน่งที่ต้องการ นอกจากความร้อนแล้วก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปฏิกริยาทางเคมี และ พลังของคลื่นเสียง (Acoustic shockwave) ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความร้อน โดยที่สามารถกำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดความร้อนได้โดย การกำหนดช่วงความยาวคลื่นของแสงให้เหมาะสม กำหนดระดับความลึกของตำแหน่งเป้าหมายด้วยขนาดของลำแสง (spot size) และความยาวคลื่นของแสง กำหนดขอบเขตการทำลายเนื้อเยื่อจากระยะเวลาของการฉายลำแสง (pulse width) และความถี่ของการยิงแสง (Frequnecy) ปัจจัยที่กล่าวถึงเหล่านี้ ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกัน สำหรับตัวรับแสงที่ผิวหนัง โดยธรรมชาติแล้ว มีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ น้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ของผิวหนัง, เม็ดสีน้ำตาล หรือดำของ melanin pigment , และสีแดงของเม็ดเลือด หรือ Hemoglobin นอกจ ากนี้ตัวรับแสงก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในผิวหนังโดยธรรมชาติ เช่น เม็ดสีที่เกิดจากการสักหรือ สารที่เราทาลงไปที่ผิวหนังเพื่อให้เกิดผลในการรักษา เช่น aminolevulinic acid (ALA) ที่ใช้ในการรักษาที่เรียกว่า Photodynamic therapy

ปัจจุบัน สามารถจำแนกประเภทของ เลเซอร์ผิวหนังตามลักษณะการใช้ได้ดังนี้

1. เลเซอร์ที่ใช้ในการลอกผิวออก (Ablative resurfacing) ซึ่งมีตัวรับแสงเป็นน้ำที่อยู่ในเซลล์ เลเซอร์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Carbondioxide Laser และ Erbium : Yag Laser ซึ่ง เลเซอร์เหล่านี้มักจะใช้ร่วมกับส่วนประกอบที่เป็นหัวสแกนที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (computerized flashscan) เพื่อให้มีความสม่ำเสมอ และรวดเร็วในการลอกเอาผิวหนังออก การรักษาด้วยวิธีนี้ ผิวหนังชั้นบนจะถูกลอกออกเป็นแผล ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ใช้ในการแก้ไขรอยแผลเป็นจากสิวที่เป็นมาก และแก้ไขปัญหาผิวหนังที่เกิดจากอายุ เช่นริ้วรอย จุดดำ กระ

2. เลเซอร์ที่ใช้รักษาหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดฝอย , ปานแดง เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ Pulsed dye Laser และเลเซอร์ที่ใช้รักษาเส้นเลือดดำที่อยู่ลึกลงไปกว่าเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนัง เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ Long pulsed Nd:Yag , Long pulsed Diode Laser เลเซอร์ในกลุ่มนี้ นอกจากนำมาใช้รักษาหลอดเลือด แล้วยังมีการนำมาใช้รักษารอยแผลเป็นที่เป็นแบบนูนหนา (Keloid และ Hypertrophic scar) ตลอดจนรอยแตกของผิว (Striae) ได้ผลดีในระดับหนึ่ง

3. เลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาเม็ดสี และรอยสัก เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ frequency-double Q-Switched Nd:Yag Laser และ Q-Switched Alexandrite Laser โรคที่รักษาได้ผลดีพอสมควรได้แก่ ปานดำ, ปานโอตะ, กระลึก (Hori?s nevus) แต่การนำมารักษาฝ้ายังได้ผลไม่ดีนัก ส่วนรอยสักที่ได้ผลดี จะเป็นรอยสักที่มีสีเข้ม เช่นสีดำ, น้ำเงิน หรือแดง ส่วนสีเขียว และเหลืองได้ผลไม่ดีนัก

4. เลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดขน เลเซอร์ที่ใช้ได้แก่ Long pulsed Diode Laser และ Long pulsed Nd:Yag Laser ขนที่สามารถรักษาได้ผลดี มักจะเป็นขนเส้นใหญ่ มีสีดำ ในคนผิวขาว มากกว่าที่จะเป็นขนอ่อน สีอ่อน และในคนผิวเข้ม อย่างไรก็ตามเลเซอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนามาแล้ว จะสามารถรักษาขนเส้นเล็กในคนผิวสีเข้มได้ผลดีขึ้นกว่าเดิม แม้จะไม่เท่ากับขนเส้นใหญ่ในคนผิวขาวก็ตาม และการกำจัดขนด้วยเลเซอร์นั้น จำเป็นต้องทำหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลในระยะยาว

5. เลเซอร์ที่ใช้ในการลดริ้วรอย หรือแผลเป็นจากสิว แบบที่ไม่ต้องลอกผิวออก (Nonablative resurfacing) เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้แก่ 1320 nm Nd:YAG Laser, 1540 Er:Glass Laser และ Long pulsed Diode Laser ทั้งนี้โดยอาศัยหลักการของการทำให้เกิดความร้อนขึ้นในชั้นหนังแท้ แล้วกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมผิวด้วยการสร้างคอลลาเจน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่เท่ากับการลอกผิวออกด้วยเลเซอร์ แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า คนไข้ที่ผิวสีขาวเป็นกลุ่มที่ได้ผลดีพอสมควร ส่วนคนไข้ที่ผิวสีเข้มจะต้องระวังในการใช้ เนื่องจากสีผิ วที่อยู่ในชั้นบนของผิวหนังอาจได้รับผลจากแสง ทำให้เกิดเป็นรอยดำ หรือรอยด่างขาวได้ แม้จะมีระบบทำความเย็นที่ผิวหนังเพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว

          จะเห็นได้ว่า เลเซอร์ผิวหนังมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีความจำเพาะกับแต่ละปัญหา อย่างไรก็ตามปัญหาหลายอย่าง เป็นปัญหาที่ซับซ้อน เช่น รอยแผลเป็นจากสิว ซึ่งอาจมีทั้งรอยแดง เส้นเลือดฝอย รอยดำ และรอยบุ๋มร่วมกันไป การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เกิดตามวัยก็เช่นกัน ก็อาจมีทั้งเรื่องของริ้วรอย กระ กระเนื้อ รอยดำ รูขุมขนกว้าง เส้นเลือดฝอยขยายตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ การใช้เลเซอร์แต่เพียงชนิดใด ชนิดหนึ่ง ไม่สามารถแก้ไขทุกรายละเอียดให้ดูดีขึ้นได้ทั้งหมด จำเป็นที่จะต้องใช้เลเซอร์หลายชนิดร่วมกัน (ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง) หรือแม้กระทั่งต้องใช้วิธีการอื่นๆ ทางศัลยกรรมร่วมไปด้วย ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย เทคนิกที่ใช้มีทั้งที่เป็นแสง (Light based) และที่ไม่ใช่แสง เช่นคลื่นความร้อนที่อยู่ในช่วงคลื่นวิทยุ (Radiofrequnecy: RF) ผลการรักษาที่ได้อยู่ในระดับที่ดี ไม่แตกต่างจากการใช้ เลเซอร์หลายชนิดร่วมกัน หรือในบางกรณีได้ผลดีกว่าเลเซอร์ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่มีลักษะเป็นปัญหาเดี่ยว และจำเพาะ เช่น รอยสัก ปานดำ ปานแดง ก็ยังไม่มีวิธีการรักษาอื่นที่ดีกว่าการใช้ เลเซอร์ และการรักษาด้วย เลเซอร์นั้น ในบางกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องทำซ้ำ เพื่อให้ผลดีที่สุด เช่นในกรณีของรอยสัก และปาน นอกจากนี้ หลังการรักษาด้วย เลเซอร์อาจจะมีแผล หรือสะเก็ดซึ่งจะต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องไประยะหนึ่งด้วย


Copyright © 2014. All Rights Reserved.