Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/การดูแลผิว/32-เครื่องสำอางชุดบำรุง-skin-treatment-products): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

การดูแลผิว

เครื่องสำอางชุดบำรุง (Skin treatment products)

การทำงานของต่อมเหงื่อและต่อมไขมันจะเสื่อมลงตามอายุขัยเช่นกัน ผิวจึงแห้ง แต่พบว่าต่อมไขมันบางแห่ง เช่น หน้าผากและแก้มอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น ในผู้สูงอายุผิวหนังชั้นขี้ไคลบริเวณรูขุมขนอาจแข็งอัดแน่นเกิดเป็นตุ่มสิวหัวตัน (senile comedone) ที่บริเวณโหนกแก้มเส้นผม รากผมจะเสื่อมตามอายุ ดังนั้นในผู้สูงอายุเส้นผมจะบางและเล็กลง ผมหงอกและเปราะบาง แต่ในหญิงหลังหมดประจำเดือนจะมีขนบริเวณรอบริมฝีปากและคางยาวขึ้นและสีขนจะเข็มขึ้น

ดังนั้น เครื่องสำอางชุดบำรุงจึงเป็นความหวังของมนุษย์ที่จะช่วยยังยั้งความเสื่อม โดยผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ซึ่งมีทั้งครีม โลชัน โลชันใส สเปรย์ ฯลฯ ผสมสารซึ่งกล่าวอ้างว่าสามารถช่วยลดการเสื่อมได้ โดยใช้วิธีการหลายแบบเช่นเร่งเซลล์ซึ่งเสื่อมออกไป เพื่อให้ผิวหนังสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นแทนที่ หรือการทาสารทดแทน สารที่เสื่อมไป เช่น


1. การลอกผิวหนังด้วยกรดผลไม้ AHA (alhpa hydroxy acid) หรือสาร BHA (beta hydroxy acid) ซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้ในปัจจุบัน วิธีการใช้มี 2 แบบคือ การใช้กรดผลไม้ในความเข้มข้นสูงทาทิ้งไว้ชั่วระยะหนึ่งแล้วล้างออก อาจทำทุก 1-2 สัปดาห์ หรืออาจใช้กรดผลไม้ในความเข้มข้นต่ำทาทุกวัน ประสิทธิภาพของกรดผลไม้จะช่วยลอกชั้นเคอราตินที่ขุ่นและไม่เรียบออก ดังนั้นผู้รับบริการจะรู้สึกว่าผิวหน้าลื่นขึ้นหลังใช้ จึงเกิดความปิติ แต่ผิวที่ลื่นเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราว เพราะเซลล์ซิ่งเสื่อมจะสร้างเคอราตินแบบเดิมมาทดแทน และเมื่อใช้กรดผลไม้หรือ BHA ติดต่อกันนานๆ ผลที่ได้จะลดลง วิธีการการลอกหน้าด้วยกรดผลไม้มีมานานหลายร้อยปี เช่น ภูมิปัญญาไทย ล้างหน้าด้วยน้ำผสมน้ำมะนาว ในน้ำมะนาวหรือมะกรูดจะมีฤทธิ์เป็นกรดผลไม้ (citric acid) บางท่านใช้น้ำมะขาม (tartaric acid) ผสมดินสอพองพอกหน้าสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งจะมีลักษณะเช่นการใช้มาสค์ (facial mask) ในสถานเสริมสวยซึ่งคิดค่าบริการแพงๆ ส่วนชาวยุโรปอาจฟอกผิวหน้าด้วยนมเปรี้ยว (lactic acid) น้ำแอปเปิ้ล (malic acid) ส่วนสาร beta hydroxy acid ซึ่งก็ใช้มานานในความเข้มข้นสูงผสมในโลชันลอกหน้าหลายตำรับ เช่น Jessner's solution ซึ่งผสม BHA (salicylic acid) ร้อยละ 14 และในครีมหรือโลชันรักษาสิวหลายขนานก็ผสม salicylic acid ร้อยละ 1-2
ประสิทธิภาพของ AHA และ BHA ในความเข้มข้นสูงถ้ามีฤทธิ์เป็นกรด (pH ต่ำกว่า 3) จะช่วยลอกผิว (exfoliant) และถ้าใช้สารนี้ในความเข้มข้นต่ำและ pH สูงกว่า 3.5 จะให้ความชุ่มชื้นผิวหนัง (humectant) สารทั้งสองชนิดไม่สามารถช่วยให้การทำงานของเซลล์ซึ่งเสื่อมกลับมาปกติได้ แต่มีผู้พยายามอธิบายว่าการลอกผิวด้วยกรดจะกระตุ้นการสร้าง growth factor ซึ่งช่วยกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสในชั้นหนังแท้ให้สร้างสาร HA เพิ่มขึ้น ดังนั้น ริ้วรอยจะลดลงแต่ยังมีผู้แย้งว่ากรดผลไม้ไม่มีประโยชน์จริง
การใช้ AHA และ BHA จะลอกผิวหนังขี้ไคลซึ่งช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต จึงต้องแนะนำผู้บริโภคหลบแสงแดดเพราะผิวจะไวต่อแสง


2. สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เนื่องจากการเสื่อมของเซลล์อาจเกิดจากการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเกิดภายในเซลล์ ปกติร่างกายจะมีขบวนการทำลายอนุมูลอิสรด้วยสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งประกอบด้วย superoxide dismutase, catalase, glutathione peroxidase, glutathione reductase, glucose-6-phosphate dehydrogenase, Isocitrate dehydrogenase, gamma-tocopherol, alpha-tocopherol, ubiquinol 10, ubiquinone10 (Q10), ascorbic acid, dehydroascorbic acid, uric acide, reduced glutathione, และ oxidized glutathione มีผู้พยายามอธิบายว่าถ้าเซลล์ในร่างกายมีออกซิเดชั่น (oxidation) เพิ่มขึ้น จากการออกกำลังกายหรือรับประทานอาหารมากกว่าความจำเป็น เซลล์จะต้องเพิ่มขบวนการออกซิเดชั่นในเซลล์ ทุกเซลล์ของร่างกายและรวมทั้งเซลล์ในผิวหนังก็จะเกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นเช่นกันและผิวหนังยังได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งเป็นอนุมูลอิสระโดยตรง และถ้าทาผิวหนังด้วยสารซึ่งไม่มีประโยชน์เมื่อสารซึมเข้าชั้นผิวหนังเซลล์ผิวหนังจะทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดสารดังกล่าวก็จะเกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น จึงมีกระแสนิยมการใช้สารกลุ่มต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดรับประทานหรือชนิดทามากขึ้น การใช้ครีมผสมสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น วิตามิน ซี วิตามินอี สารสกัดจากพืช carotenoid ซึ่งมีสาร carotene หรือสาร Q10 โดยให้ตั้งความหวังว่าสารเหล่านี้จะลดอนุมูลอิระได้ แต่ในเซลล์ผิวหนัง เซลล์สร้างเม็ดสีหรือไฟโบรบลาสต์ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามวัยไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินหรือสารต้านอนุมูลอิระต่างๆ เหล่านี้ การให้เสริมจะไม่มีประโยชน์ ในปัจจุบันมีการทำ Iontophoresis หรือ Phonophoresis โดยสร้างภาพว่าเป็นวิธีการผลักสารหรือยาเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งวิธีดังกล่าวยังไม่มีข้อรับรองว่าปลอดภัย หรือผลักยาได้จริงและวิตามิน ซี หรือ อี ซึ่งผสมในครีม นั้นก็สามารถซึมผ่านเข้าชั้นผิวหนังได้ดีเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการพิสดารดังกล่าว


3. การใช้สารทดแทนอื่นๆ ของเซลล์ผิวหนัง การเสื่อมของเซลล์จะมีผลให้ผิวไม่เรียบ ผิวชั้นหนังขี้ไคลอาจขุ่นไม่โปร่งแสง ปริมาณน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวลดลง เซลล์สร้างเม็ดสีสร้างเม็ดสีไม่สม่ำเสมอ และเซลล์ไฟโบรบลาสสร้างใยคอลลาเจน ใยอีลาสติน และสาร glycominoglycan เช่น สาร hyaluronic acid (HA) ลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ ทำให้เกิดริ้วรอย (wrinkles) จึงมีความพยายามสังเคราะห์สารซึ่งกระตุ้นการทำงานของเซลล์หรือให้สารที่ขาดหายไปเข้าไปทดแทน เช่น


3.1 Beta-glucan จากผนังเซลล์ของยีสต์ Saccharomyces cerevisiae เป็นสารซึ่งสามารถกระตุ้น cytokine เช่น interleukin IL-1, IL-6 และ IL-5, epidermal growth factor, tumour necrosis factor และ angiogenesis factor หวังว่าสารนี้จะช่วยกระตุ้นเซลล์ให้สร้างใยคอลลาเจนและกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดทดแทน
3.2 สารสกัดจากพืช เช่น สกัดจากใบ เปลือกไม้ ดอก เมล็ดหรือจากรากไม้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสมุนไพร คนรุ่นโบราณเรียกว่าเป็นสารอายุวัฒนะ มีการพยายามค้นคว้าหาส่วนประกอบจากสมุนไพรเหล่านี้โดยสะกัดแยกให้เป็นสารบริสุทธิ์เพื่อนำมาทำการทดลองให้ได้ทราบผลแน่นอน และการสกัดยังจะช่วยแยกส่วนที่ก่อให้เกิดการระคายหรือแพ้ออกและสามารถผสมในความเข้มข้นสูงขึ้น ซึ่งผลการใช้สารกลุ่มนี้ยังไม่มีข้อยืนยันว่าดีจริง อาจดีขึ้นจากผลทางจิตใจ
3.3 สารสังเคราะห์ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายสารซึ่งสร้างในชั้นผิวหนัง เช่น น้ำมันเซราไมด์ (ceremide) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวได้จากการย่อยสลายของเซลล์ผิวหนัง เชื่อว่าสารนี้จะช่วยหล่อลื่น อุ้มความชุ่มชื้นและอาจช่วยกระตุ้นให้เซลล์ซ่อมแซมสร้างส่วนประกอบให้ดีขึ้น เซราไมด์มีหลายชนิดและมีการค้นคว้าหาชนิดที่เหมาะสม ซึ่งคงจะเป็นส่วนผสมหลักในครีมบำรุงผิวต่อไป
3.4 การใช้สารซึ่งเป็นส่วนประกอบใน้ำมันหล่อเลี้ยงผิว โดยสารเหล่านี้จะช่วยอุ้มน้ำไว้ เรียกสารนี้ว่า NMF (natural moisturizing factors) เช่น ยูเรีย ซึ่งได้จาการย่อยสลายของโปรตีนในเซลล์ผิวหนัง กรดแลคติก (lactic acid) และ PCA (pyrolidone carboxylic acid) ได้จาก keratohyaline granule ของเซลล์ผิวหนังและจากต่อมเหงื่อ
3.5 การผสมสาร hyaluronate ซึ่งมีคุณสมบัติคล้าย hyaluronic acid (HA) ในครีม แต่เนื่องจากโมเลกุลของ HA จะใหญ่ไม่สามารถผ่านเข้าภายในผิวหนังได้ จึงมีผลเพียงเพิ่มความชุ่มชื้นในชั้นหนังขี้ไคลเท่านั้น ในปัจจุบันมีการนำสาร HA ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพื่อลบริ้วรอย แต่ผลจะได้เพียงชั่วคราว
ได้มีความพยายามเพิ่มความดูดซึมของสารซึ่งขาดหรือหายไปเมื่อสูงวัยขึ้น โดยเคลือบและห่อหุ้มสารดังกล่าวด้วย phospholipid และเรียกสารใหม่นี้ว่า liposome เนื่องจากบางส่วนของ liposome ละลายได้ดีในน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวจึงอาจดูดซึมเข้าในชั้นผิวหนังได้ เมื่อนำสารซึ่งขาดหายไปในชั้นผิวหนังมาเคลือบ liposome ทาที่ผิวอาจช่วยเพิ่มการดูดซึมของสารดังกล่าว เช่น liposome ของวิตามินต่างๆ แต่จากการทดลองพบว่าสารเคลือบ liposome จะไม่อยู่ตัววิธีการเคลือบ liposome จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน


เครื่องสำอางชุดบำรุงจะก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อยกว่าครีมทาผิวอื่นๆ คือแพ้แบบระคายหรือผื่นภูมิแพ้สัมผัส แพ้แบบเกิดรอยดำ และการแพ้จากการสะสมของไขมันเกิดสิวอุดตัน อุบัติการแพ้เครื่องสำอางชุดบำรุงจะสูง เพราะหลักในการใช้ครีมชุดนี้ต้องการให้ส่วนผสมดูดซึมผ่านเข้าไปภายในชั้นผิวหนังให้มากที่สุด ต้องทาทิ้งไว้ให้นานที่สุดจึงแพ้บ่อยกว่าเครื่องสำอางชุดอื่น แพทย์ผิวหนังมักไม่นิยมให้ใช้ครีมชุดบำรุง และในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการบำรุงผิว มักนิยมให้ใช้กรดวิตามิน เอ เพราะเป็นสารซึ่งอาจช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ได้โดยช่วยปรับให้เซลล์ผิวหนัง (keratinocyte) สร้างเคอราตินได้สมบูรณ์ขึ้น ปรับการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีให้สร้างเม็ดสีอย่างสม่ำเสมอ และช่วยให้เซลล์ไฟโบรบลาสสร้างใยและ HA ได้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ การใช้กรดวิตามิน เอ จะได้ผลดีขึ้นบ้างในช่วงการใช้ยา แต่จะกลับสภาพเดิมเมื่อหยุดใช้ และเนื่องจากการใช้กรดวิตามิน เอ จะก่อให้เกิดการระคายในระยะแรก แพทย์ควรอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจและเนื่องจากผิวหนังซึ่งใช้กรดวิตามิน เอ ในระยะยาวผิวจะขาวขึ้น ดังนั้นควรแนะนำให้ผู้บริโภคหลบเลี่ยงแสงแดด เพราะอาจเกิดการไหม้แดดง่ายกว่าเมื่อยังไม่ใช้กรดวิตามินเอ


Copyright © 2014. All Rights Reserved.