Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ผม-และขน/10-ผมบางลง): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

ผมบางลง

คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องผมบาง แบบฮอร์โมน และพันธุกรรม มักจะมาพบแพทย์โดยเล่าให้ฟังว่า ผมร่วง แต่แท้จริงแล้ว ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง คนไข้กลุ่มนี้ ผมไม่ได้ร่วงมากกว่าปกติ หรือไม่ได้ร่วงมากขื้น แต่มีปัญหาว่าร่วงไปแล้วไม่ค่อยขึ้น แถมผมที่ขึ้นมายังมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป จึงดูว่าผมบางลงๆ    และเมื่อตรวจที่หนังศีรษะมักจะพบว่าปกติ  และประวัติที่เป็นมา มักจะมีระยะเวลานานเป็นปี หรือหลายปี โดยไม่มีเหตุนำ (precipitating factor) มาก่อน
 
           ในส่วนของพันธุกรรม คนไข้ส่วนใหญ่มักจะปฏิเสธว่า พ่อ หรือแม่ผมก็ไม่บาง แต่ที่ว่าพันธุกรรมในที่นี้ ไม่ได้มีลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมตรงไปตรงมาแบบหนึ่งต่อหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อพ่อหรือแม่เป็น ลูกก็จะต้องเป็น  แต่ลักษณะทางพันธุกรรมในที่นี้มีลักษณะซับซ้อนที่เรียกว่า polygenic จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีลักษณะผมบางในรุ่นพ่อหรือแม่ปรากฏเสมอไป อีกทั้งยังมีความเข้าใจผิดบางประการที่พบบ่อยๆ สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้ ที่มักสงสัยว่า เป็นเพราะทำงานซึ่งมีลักษณะต้องใส่หมวกเป็นประจำหรือไม่ เป็นเพราะยาสระผมหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
 
           ลักษณะที่ผมบาง ในโรคนี้เป็นได้ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย โดยพบว่า ในผู้ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะพบภาวะผมบางดังกล่าวได้ประมาณ 50% (ดังนั้นจึงมักพบว่า ผู้ชายที่มาปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหานี้ มักจะมีอายุน้อยกว่า 40 ปี เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว จะพบว่าผู้ชายประมาณครึ่งหนึ่งก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน จึงดูไม่ใช่เรื่องแปลก เว้นเสียแต่ผู้ที่มีผมบางมากๆ)  ส่วนในผู้หญิง เนื่องจากภาวะดังกล่าวอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมน จึงมักพบว่า ผู้หญิงที่มีปัญหาดังกล่าวมักจะมีอายุมากกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน โดยเมื่อใกล้วัยหมดประจำเดือน หรือเมื่อรังไข่ลดการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงลง ก็จะเริ่มแสดงอาการผมบางออกมา   นอกจากนี้ รูปแบบของอาการแสดงในผู้หญิงกับผู้ชายก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ในผู้ชาย ผมมักจะบางลงในบริเวณด้านหน้า หรือด้านข้างของด้านหน้าเป็นง่ามเข้าไป หรือบริเวณกระหม่อม  แต่ในผู้หญิง มักจะพบเฉพาะในบริเวณด้านบนและกระหม่อม โดยเหลือแนวเส้นผมด้านหน้าไว้   สำหรับบริเวณท้ายทอย มักจะยังมีผมหนาแน่นเหมือนปกติเหมือนกันทั้ง 2 เพศ    สำหรับกลไกในการเกิดผมบางใน 2 เพศนี้มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในผู้ชายจะมีการเพิ่มขึ้นในการทำงานของเอ็นไซม์ที่เรียกว่า 5 alpha reductase บริเวณรากผมที่อยู่ในส่วนหน้า และส่วนบนของศีรษะ เอ็นไซม์นี้ทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า testosterone ให้เป็น dihidrotestosterone ซึ่งมีความแรงมากกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับรากผม ให้มีขนาดเล็กลง  ส่วนในเพศหญิง ภาวะผมบางเกิดจากการขาดเอ็นไซม์ที่เรียกว่า aromatase ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมน testosterone ให้เป็น estradiol ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง  จากการตรวจรากผมบริเวณส่วนหน้าของผู้หญิงที่มีภาวะผมบางนี้ จะยังคงพบเอ็นไซม์นี้ที่บริเวณส่วนหน้าของหนังศีรษะ ทำให้รูปแบบผมบางในผู้หญิง จะยังคงมีผมเหลืออยู่ในบริเวณแนวผมด้านหน้าเป็นส่วนใหญ่    ความรู้เหล่านี้ เป็นที่มาของการรักษาซึ่งมีความแตกต่างกันในเพศทั้งสอง
 
          ในการรักษา การรักษาที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน คือการใช้ยาทาที่ชื่อว่า minoxidil ซึ่งไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่นอน โดยพบว่า minoxidil จะทำให้ผมอยู่ในระยะงอก (Anagen) นานขึ้น และยังช่วยให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณรากผมมากขึ้น ยานี้ใช้ได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ในรูปของยาทา ส่วน minoxidil ที่อยู่ในรูปของยารับประทาน ไม่ควรนำมาใช้เพื่อปลูกผม เพราะนอกจากจะทำให้ขนขึ้นในบริเวณที่ไม่ต้องการแล้ว ยาตัวนี้ ยังขยายหลอดเลือด และอาจจะมีผลต่อความดันโลหิต และมักจะทำให้มีอาการบวม โดยเฉพาะในผู้ที่ทานเค็มด้วย ในผู้ชายนั้น จะมีการใช้ยาที่ชื่อ Finasteride ซึ่งออกฤทธิ์ยับยังการทำงานของเอ็นไซม์ 5 alphareductase  ดังที่ได้อธิบายไว้แล้ว ยานี้จึงใช้ได้ผลเฉพาะในผู้ชาย การใช้ยานี้ในผู้หญิงนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ถ้าใช้ในหญิงที่ตั้งครรภ์ยังอาจทำให้ทารกที่เกิดมาผิดเพศได้  ในผู้หญิงที่อาจนำมาใช้เพื่อเสริมการรักษาได้แก่ ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ cyproterone acetate และ ยาขับปัสสาวะที่ชื่อ spironolactone แต่ก็เป็นยาที่มีผลข้างเคียง กล่าวคืออาจทำให้เกิดเลือดประจำเดือนออกกะปริดกะปรอยได้ จึงควรใช้ในกรณีที่คิดว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าเท่านั้น    ในการรักษาจะต้องใช้ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือนจึงจะเห็นผลการรักษา และผลการรักษามักจะทำให้ดีขึ้น ประมาณ 40-60% โดยในคนที่อายุน้อย และยังเป็นมาไม่นาน จะได้ผลดีกว่า   สำหรับระยะเวลาการรักษาจะต้องรักษาไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังต้องการผลการรักษา เนื่องจากผลการรักษานั้น ไม่ถาวร เมื่อหยุดยา จะกลับไปสู่สภาพเดิมในระยะเวลาอันสั้น   ในเวชปฏิบัติผมมักจะแนะนำคนไข้ว่า ถ้าวันใดเห็นเรื่องบนหัวไม่สำคัญเท่าเรื่องในหัวแล้วก็สามารถจะหยุดการรักษาได้
 
          สำหรับการรักษาโดยการผ่าตัดนั้น ในกรณีที่เป็นมากอาจทำการตัดเอาหนังศีรษะที่ไม่มีผมทิ้งไป โดยทำการขยายหนังศีรษะก่อน แล้วดึงเอาส่วนที่มีผมเข้ามาหากัน เพื่อลดพื้นที่ที่ไม่มีผมให้เหลือน้อยลง จากนั้นจึงทำการเจาะตัดเอาหนังศีรษะที่มีผมปกติ ซึ่งมักจะเอามาจากส่วนท้ายทอย มาซอยแยกเป็นกอๆ กอหนึ่งๆมีผมประมาณ 3 เส้น แล้วทำการฝังปลูกลงในส่วนที่ผมบาง หรือไม่มีผมนั้น โดยกระจายการปลูกให้ทั่วๆ บริเวณ ผมที่ย้ายมาปลูกนั้น ถ้าติดแล้วก็จะอยู่เป็นปกติเนื่องจากนำมาจากหนังศีรษะส่วนที่ปกติ อย่างไรก็ตาม ผมที่เป็นของเก่าที่ยังเหลืออยู่ในตำแหน่งเดิม ก็อาจจะบางลงไปเรื่อยๆ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะต้องทำการย้ายผมมาปลูกเพิ่มเติมอีก   การรักษาโดยวิธีดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็นการปลูกผมถาวร โดยใช้ผมของตัวเอง และเป็นผมจริง  ซึ่งการรักษาดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ ตลอดจนเป็นการรักษาที่ใช้เวลาในการทำพอสมควร เหล่านี้เป็นข้อมูลที่คนไข้ที่มีปัญหาดังกล่าวควรจะพิจารณาก่อนเลือกการรักษา


Copyright © 2014. All Rights Reserved.