Warning: file_get_contents(https://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://theerayut.com/index.php/ผม-และขน/11-ผมร่วงหรือผมบาง): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/theerayut/domains/theerayut.com/public_html/plugins/content/al_facebook_comments/al_facebook_comments.php on line 516

ผมร่วงหรือผมบาง

ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติของแพทย์ผิวหนัง คือการที่คนไข้มาปรึกษาเรื่องผมร่วง สิ่งที่แพทย์จะต้องพิจารณา ได้แก่ รูปแบบของการร่วง ว่า ร่วงทั่วๆ ไป ร่วงเฉพาะที่เป็นหย่อมๆ ร่วงแบบมีแบบแผน เช่นที่พบในคนไข้ที่ผมบางศีรษะล้านแบบฮอร์โมนและพันธุกรรม; ระยะเวลาที่เป็นมา; มีอาการผิดปกติของหนังศีรษะร่วมด้วยหรือไม่; มีโรคนำมาก่อนหรือไม่; มีโรคประจำตัว หรือใช้ยาอะไรอยู่ด้วยหรือไม่; มีประวัติญาติพี่น้องที่เป็นลักษณะเดียวกันหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ จำนวนที่ร่วง
 
           คนไข้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการผมร่วงนั้น จริงๆ แล้วอาจเป็นการที่ผมร่วงมากขึ้นกว่าเดิม (แต่อาจจะไม่เกินจำนวนที่ยอมรับได้) หรืออาจเป็นการที่ผมร่วงแล้วไม่ค่อยขึ้นก็ได้ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปแล้วผมก็จะบางลงเรื่อยๆ คนไข้ที่ผมร่วงมากขึ้นกว่าเดิม มักจะมีประวัติของอาการผิดปกติไม่นานนัก ส่วนใหญ่เป็นสัปดาห์ หรือไม่เกิน 2-3 เดือน แต่คนไข้ที่ผมร่วงแล้วไม่ค่อยขึ้นนั้น อาการจะค่อยเป็นค่อยไป กว่าจะรู้สึกตัวอีกที ก็เพราะมีคนทักว่า ผมดูบางลงไปกว่าเดิม ซึ่งประวัติของอาการผิดปกติมักจะนานเป็นปี หรือ 2-3 ปี คนไข้ที่ผมร่วงเป็นหย่อมๆ อาจจะไม่สังเกตเห็นด้วยตัวเอง แต่ช่างทำผม หรือคนรอบข้างอาจจะเป็นคนบอก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้อาจพบร่วมกันในคนเดียวกันก็ได้ ปัญหาที่คนไข้สงสัยอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ผมร่วงเท่าไรถึงจะผิดปกติ บางคนก็จะมาบอกแพทย์เลยว่า นับมาแล้วผมร่วงเกินร้อยเส้น การที่ผมร่วงเท่าไรจึงจะผิดปกติ ต้องอาศัยความเข้าใจวงจรชีวิตของเส้นผมประกอบ
 
          ปกติตั้งแต่เกิดมา คนเราจะมีรากผมที่หนังศีรษะประมาณ 1 แสนเส้น และผมแต่ละเส้นจะมีอายุประมาณ 3 ปี ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะหลุดร่วง แล้วก็ขึ้นมาใหม่ทดแทน ถ้าเราเอาจำนวน วันของระยะเวลา 3 ปีไปหารด้วยจำนวนเส้นผม 1 แสนเส้น จะได้ตัวเลขคร่าวๆ ประมาณ 100 นี่คือที่มาของคำกล่าวที่ว่า ผมสามารถร่วงได้ถึงวันละ 100 เส้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้น จำนวนรากผมก็จะลดน้อยไปเรื่อยๆ ตามวัย ทำให้จำนวนรากผมที่เหลืออยู่บนศีรษะเมื่ออายุมากขึ้น จะไม่ใช่ 1 แสนเส้นอีกต่อไป ดังนั้น ในคนที่อายุมากขึ้น ถ้าผมร่วงเกินวันละ 50 เส้น ก็อาจจะถือว่าผิดปกติแล้ว ถ้าจำนวนรากผมบนศีรษะเหลืออยู่แค่ประมาณ 5 หมื่นเส้น ในการนับจำนวนผมร่วงว่าผิดปกติหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะคนไข้มักจะเอาจำนวนผมที่นับได้เมื่อรู้สึกว่าผมร่วงมากผิดปกติ เช่น หลังจากสระผมมาแจ้งกับแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในวันที่เราสระผม แปรงผม มักจะรู้สึกว่าผมร่วงมากกว่าปกติ เพราะจะมีผมที่ใกล้ๆ จะหลุดร่วงถูกดึงออกมาด้วย ในวันรุ่งขึ้นอาจจะไม่มีผมที่ร่วงเลย หรือร่วงน้อยมากก็ได้ ดังนั้นวิธีการนับผมร่วงที่ถูกต้อง จะต้องเฉลี่ย เช่นจาก 7 หรือ 10 วัน โดยเก็บผมเดิมที่ร่วงอยู่ตามหวี หมอน ที่นอน ห้องน้ำทิ้งไปให้หมดก่อน แล้วเริ่มเก็บผมร่วงใหม่ โดยอาจจะสระผมทุกวันหรือไม่ก็ตาม เราก็จะได้จำนวนผมร่วงเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับความจริงมากขึ้น; ความรู้เกี่ยวกับวงจรของผมหรือขน ยังมีที่น่าสนใจอีก กล่าวคือ ปกติเส้นผมของคนเราจะยาวในอัตราประมาณ 0.3 มม. ต่อวัน ซึ่งหมายความว่า 10 วันประมาณ 3 มม. หรือเดือนหนึ่งไม่ถึง 1 ซม. ถ้าผมคนเรามีอายุประมาณ 3 ปี เราจะพบว่าเราจะไว้ผมได้ยาวที่สุด ไม่เกินระดับเอวหรือสะโพก นอกจากนี้ สัดส่วนของ ผมที่อยู่บนศีรษะของคนเรานั้น ประมาณ 75 ถึง 80 % จะเป็นผมที่อยู่ในระยะงอก ส่วนที่เหลือจะเป็นผมที่อยู่ในระยะพัก และระยะเตรียมที่จะหลุดร่วง (ในขณะที่ขนที่ส่วนอื่นของร่างกายจะเป็นขนที่อยู่ในระยะงอกเฉลี่ยแล้วประมาณ 30% ของจำนวนขนทั้งหมดของบริเวณนั้น)
 
          เมื่อผมหลุดร่วงไปแล้ว รากผมก็จะเข้าสู่วงจรของระยะงอกต่อไป โดยที่ผมที่อยู่ในระยะพัก และเตรียมที่จะร่วงจะมีอายุประมาณ 2-3 เดือน และทั้งนี้ ผมแต่ละเส้นบนศีรษะไม่ได้อยู่ในระยะเดียวกัน ทุกเส้นหรือที่อยู่ในระยะเดียวกันก็มีอายุไม่เท่ากัน นั่นก็คือ ผมคนเราปกติ แล้วจะทะยอยๆ กันร่วง ความปกติบางชนิดทำให้ผมทุกเส้นเข้าสู่ระยะพักพร้อมๆ กัน ทำให้ อีก 2-3 เดือนถัดมา มีอาการผมร่วงพร้อมๆ กันหมด หรือเกือบหมดศีรษะ เช่นในคนไข้ที่มีผมร่วงตามหลังจาก เจ็บป่วยที่มีไข้สูง เช่น เป็นมาลาเรีย ทัยฟอยด์ ไข้เลือดออก หรือตามหลังผ่าตัดใหญ่ ตกเลือด หลังคลอด ลดน้ำหนักเร็วๆ หรือบริจาคโลหิต หรือในความผิดปกติบางอย่างอาจจะทำให้สัดส่วนของผมบนศีรษะผิดไปจากปกติ เช่น แทนที่จะเป็นผมในระยะงอก 75 ถึง 80 % กลายเป็นว่า ผมที่อยู่ในระยะงอกมีอยู่เพียง 40-50 % ก็จะพบว่า ผมบางลง และผมร่วงมากขึ้นด้วย เช่นที่พบในคนไข้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่นเป็นโรคไตวายเรื้อรัง โลหิตจางหรือขาดอาหาร เป็นต้น ซึ่งต่างจาก คนไข้ที่ผมบางแบบฮอร์โมนและพันธุกรรม ซึ่ง จะมาด้วยอาการผมบางลง แต่ผมไม่ได้ร่วงมากขึ้น เพียงแต่ผมร่วงไปแล้วไม่ค่อยขึ้น และที่ขึ้นมาก็มีขนาดเล็กลงๆ ทำให้นานไป ผมบางลงๆ ซึ่งจะมีแบบแผน (Patterned) ทั้งนี้เพราะแต่ละบริเวณของหนังศีรษะไวต่ออิทธิพลของฮอร์โมนไม่เท่ากัน
          สำหรับปัญหาผมร่วงที่พบบ่อยๆ ในเวชปฏิบัติผิวหนัง ได้แก่ ผมร่วงที่เกิดจากสัดส่วนของผมที่อยู่ระยะพักมากกว่าปกติ (Telogen effluvium) , ผมบางแบบฮอร์โมนและพันธุกรรม (Androgenic alopecia), และโรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ (Alopecia areata)


Copyright © 2014. All Rights Reserved.