การดูแลผิว
บทความในส่วนนี้ มาจากบทความในวารสารโรคผิวหนังของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ซึ่งเขียนโดย รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน (สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยทั่วไป จึงได้นำมาเผยแพร่ในที่นี้
เครื่องสำอางประทินกลิ่นหอม (Fragrance products)
กลิ่นหอมจะผสมในเครื่องสำอางทุกชนิดทุกรูปแบบและยังใช้ผสมในน้ำยาทำความสะอาดอื่น เช่น น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน และรสชาติสังเคราะห์ซึ่งผสมในอาหารก็มีโครงสร้างเหมือนกลิ่นหอม กลิ่นหอมช่วยให้ผู้บริโภคสดชื่น และยังกลบกลิ่นสารเคมี (masking fragrance)
กลิ่นหอมอาจได้จากการสกัดจากสารธรรมชาติ เช่น จากกลีบดอกไม้ กลีบกุหลาบ (rose water) กลีบดอกมะลิ (jasmine) กลีบกระดังงา (ylang-ylang oil) จากเปลือกสน (turpentine) จากเนื้อไม้จันทน์ (sandal wood oil) จากใบตะไคร้หอม (citronellal) จากเปลือกส้ม (oil of bergamont) กลิ่นอาจสกัดจากสัตว์ เช่น ชะมดเช็ด (musk ambrette) แต่ในปัจจุบันกลิ่นหอมเป็นสารสังเคราะห์และมักนิยมผสมกลิ่นหลายกลิ่นเพื่อให้ได้กลิ่นซึ่งแปลกกว่าเดิม
เครื่องสำอางชุดบำรุง (Skin treatment products)
การทำงานของต่อมเหงื่อและต่อมไขมันจะเสื่อมลงตามอายุขัยเช่นกัน ผิวจึงแห้ง แต่พบว่าต่อมไขมันบางแห่ง เช่น หน้าผากและแก้มอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น ในผู้สูงอายุผิวหนังชั้นขี้ไคลบริเวณรูขุมขนอาจแข็งอัดแน่นเกิดเป็นตุ่มสิวหัวตัน (senile comedone) ที่บริเวณโหนกแก้มเส้นผม รากผมจะเสื่อมตามอายุ ดังนั้นในผู้สูงอายุเส้นผมจะบางและเล็กลง ผมหงอกและเปราะบาง แต่ในหญิงหลังหมดประจำเดือนจะมีขนบริเวณรอบริมฝีปากและคางยาวขึ้นและสีขนจะเข็มขึ้น
ดังนั้น เครื่องสำอางชุดบำรุงจึงเป็นความหวังของมนุษย์ที่จะช่วยยังยั้งความเสื่อม โดยผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ซึ่งมีทั้งครีม โลชัน โลชันใส สเปรย์ ฯลฯ ผสมสารซึ่งกล่าวอ้างว่าสามารถช่วยลดการเสื่อมได้
เครื่องสำอางเติมสี และปิดรอย (Make up)
เครื่องสำอางชุดนี้จะเพิ่มสีสันของใบหน้าและช่วยปกปิดสีผิวหรือรอยแผลเป็นของผิวหนัง เนื่องจากเครื่องสำอางตกแต่งจะมีส่วนประกอบของครีมหรือโลชันและผสมผงแป้งและผงสีหลายชนิดโดยแป้งจะช่วยดูดซับความันของใบหน้า แป้งยังเป็นเกราะปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลต ลมและมลภาวะจากภายนอกและแป้งจะช่วยเคลือบผิว ซึ่งมีริ้วรอยหรือรอยแผลเป็นให้ดูเรียบขึ้น และยังช่วยปกปิดสีผิวได้ด้วย ส่วนเนื้อครีมหรือโลชันจะช่วยเพิ่มความชุ่มชี้นของผิวหนัง ส่วนผงสีจะช่วยปรับให้สีผิวกลมกลืน ในเครื่องสำอางชุดตกแต่งยังอาจผสมสารอื่นๆ เช่น ผสมสารช่วยการลอกผลัดผิว เช่นสาร AHA, กรดซาลิซิลิก (BHA) หรือผสมยาต้านจุลินทรีย์เพื่อรักษาสิวหรือผสมสารปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลตเครื่องสำอางเพื่อตกแต่งสีผสมผงสีหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับผิวหนังส่วนนั้นและผสมสีให้สอดคล้องกับกระแสความนิยม เช่น ครีมทาแก้ม, ครีมทาเปลือกตา, ลิปสติกทาริมฝีปาก ฯลฯ โดยสารหลักที่ใช้ผสมในเนื้อครีมจะคล้ายคลึงกัน แต่ใส่สีแตกต่างกันให้เลือกใช้
เครื่องสำอางเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง
ชั้นผิวหนังขี้ไคลซึ่งเป็นแผ่นใสคลุมผิวจะช่วยลดการสูญเสียน้ำและน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวหนังซึ่งเคลือบผิว จะมีสารประกอบหลายชนิดช่วยเก็บความชุ่มชื้นของผิวไว้ แต่ในบางคนหนังชั้นขี้ไคลผิดปกติทำให้มีการระเหยน้ำจากผิวหนังมากกว่าปกติ ผิวจึงแห้ง เช่น โรคหนังแห้งจากพันธุกรรม (congenital ichthyosis) หรือบางครั้งการชำระล้างซึ่งมากกว่าความจำเป็นจนน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวหมดเกลี้ยง และสารชำระยังระคายต่อเซลล์หนังชั้นขี้ไคล ทำให้คุณภาพผิวนี้เสียไป ผิวก็จะแห้ง และในภาวะอากาศมีความชื้นต่ำ เช่น ฤดูหนาว น้ำจะระเหยจากผิวหนังเพิ่มขึ้นก็ทำให้ผิวแห้งได้เช่นกัน
ดังนั้นอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นจึงเติบโตมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีความตื่นตัวตามกระแสสังคมซึ่งนิยมดูแลรักษาผิวให้สะอาดมากเกินควร และการทำงานในห้องปรับอากาศซึ่งมีความชื้นต่ำจะช่วยเร่งให้ผิวหนังแห้งมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น (moistrizer) ซึ่งอาจมีชื่อเรียกหลายแบบ
เครื่องสำอางเพื่อทำความสะอาดผิว
เนื่องจากผิวหนังชั้นขี้ไคลจะเคลือบด้วยน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวซึ่งสร้างจากเซลล์ผิวหนัง ต่อมไขมัน น้ำและเกลือแร่จากเหงื่อ ถ้าอากาศภายนอกสกปรก ฝุ่นละอองความสกปรกจากบรรยากาศและเครื่งสำอางจะเกาะรวมกับน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวทำให้เกิดเป็นคราบสกปรกขึ้น จึงจำเป็นต้องล้างสิ่งสกปรกและน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวส่วนเกินออก แต่การชำระล้างที่ถูกต้องควรเหลือน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อรักษาความนิ่มนวล ชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวหนังเพื่อเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
หลักการทำความสะอาดของผิวหนัง คือ ล้างสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำ หรือเช็ดความสกปรกออกด้วยน้ำมัน