ผื่นจากแมลงก้นกระดก
ช่วงหน้าฝนนี้ มีคนไข้ที่เล่าให้ฟังว่า ตื่นนอนเช้าขึ้นมา มีผื่นเป็นรอยไหม้ๆ เป็นทางยาว ที่คอ ที่หน้า หรือแขน ขา มีอาการแสบร้อน บางคนก็ได้รับการบอกกล่าวจากคนรอบข้างว่า คงเป็นงูสวัด และแนะนำให้มาพบแพทย์ แต่แท้จริงแล้ว เป็นผื่น ที่เกิดจากแมลงชนิดหนึ่งเรียกว่า แมลงก้นกระดก ผื่นที่เกิดจากแมลงชนิดนี้ มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Paederous dermatitis แมลงพวกนี้แพร่พันธ์อยู่ในช่วงฤดูนี้ ลักษณะเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดประมาณเม็ดข้าวสาร สีดำ และมีลาดคาดสีแดง ซึ่งของจริงสีแดงมักจะไม่สดจนเห็นเด่นชัดอย่างในภาพ
แมลงพวกนี้ ไม่กัด แต่ปล่อยสารชนิดหนึ่ง (Paederin) ซึ่งมีอาการระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำให้เป็นรอยไหม้ และที่เห็นเป็นทางยาว ก็เพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางทีจะเห็นเป็นรอยพับทบกัน (kissing lesion) ในบริเวณข้อพับ ที่มักจะพบตอนตื่นนอน คงเพราะเปิดไฟแล้วนอนหลับไป ดึกๆ แมลงถูกล่อด้วยแสงไฟ ก็เลยมาไต่ตามตัว บางคนก็ให้ประวัติว่าไปเที่ยวป่า เที่ยวทุ่ง หรือสวนแล้วเป็นมา ประเด็นสำคัญคือ ถ้าเป็นมาจากที่พัก ก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ถ้าไม่ระวังป้องกันให้ดี การรักษาก็เหมือนกับการรักษารอยไหม้ที่เกิดจากสารเคมีจำพวกกรดด่าง หายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่มักไม่เป็นแผลเป็น
หน้ามัน
ฉันเกลียดหน้ามัน หลายคนคงคิดอย่างนั้น ธรรมชาติ หรืออาจพูดว่ากรรมพันธ์น่าจะถูกต้องกว่า เป็นตัวกำหนดลักษณะผิว ให้บางคนผิวมัน บางคนผิวแห้ง บางคนก็มันเฉพาะแนวกลางหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก คนที่ผิวมัน มักจะมีปัญหาหลักๆ อยู่ 2-3 อย่าง คือ เป็นสิวง่าย, เป็นต่อมไขมันอักเสบ และมีรูขุมขนกว้าง
ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สิวเป็นเรื่องของการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งเป็นทางระบายออกของต่อมไขมัน กลไกในการเกิดสิวนั้น ประกอบไปด้วย การอุดตันของรูขุมขน การที่มีการผลิตไขมันออกมามาก การติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า p.acne, และการอักเสบ ในการรักษาสิวจึงมุ่งไปที่กลไกเหล่านี้ ในเรื่องของต่อมไขมันอักเสบนั้น คนไข้จะมาด้วยอาการผื่นแดง แห้ง ลอก เป็นขุยขาวๆ เหลืองๆ บริเวณหัวคิ้ว ซอกจมูก ข้างจมูก หน้าหู หลังหู หรือในรูหู และอาจเป็นร่วมกับการเป็นรังแค
สารพัดกระ
กระ มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล มักพบกระจายในบริเวณที่ถูกกับแสงแดด เช่นที่โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง ทีแขนด้านนอก หรือเป็นกลุ่มด้านเดียวที่เรียกว่า segmental lentigenes ฝ้าจะมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบเขตชัดเจน หรืออาจจะมีสีน้ำตาลอมเทา ขอบเขตไม่ชัดเจน ในกรณีของกระลึก กระจะมีลักษณะราบไปกับผิวหนังซึ่งแตกต่างจากกระเนื้อ ติ่งเนื้อ ซึ่งมีลักษณะนูน ขึ้นมาจากผิวหนังและมีสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน
กระมีหลายชนิด และมีการดำเนินไปของโรคแตกต่างกัน ดังนี้
1. กระที่เป็นมาตั้งแต่เล็ก (แต่มักจะไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด) ที่เรียกว่า Lentigo simplex ซึ่งพบมากในฝรั่ง
2. กระที่เป็นในคนสูงอายุ เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยแสงแดดสะสม มาเป็นระยะเวลายายาวนาน ที่เรียกว่า Lentigo solaris หรือ Lentigo senilis
ทั้ง 2 ชนิดนี้ จะมีลักษณะทางพยาธิวิทยาคล้ายกัน คือมี เซลล์สร้างสีเพิ่มขึ้น และมีการยื่นยาวของส่วนล่างของหนังกำพร้า เข้าไปในชั้นหนังแท้
3. กระแดด (Freckle หรือ Ephilides) ซึ่งพบในคนที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณหน้า หรือ ด้านหลังของแขนบริเวณที่ถูกกับแสงแดด เป็นรูปแบบของกระที่พบบ่อยกว่า 2 ชนิดข้างต้น ลักษณะทางพยาธิวิทยา พบว่ามีการสร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการยื่นยาวของส่วนล่างของหนังกำพร้า เข้าไปในชั้นหนังแท้
ขอบตาคล้ำ
ขอบตาคล้ำเป็นจากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า เบ้าตาลึก, เป็นลักษณะทางเผ่าพันธ์ เช่น พวกแขก หรืออาหรับ, หรือเป็นลักษณะที่พบได้ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ที่เรียกว่า allergic shiner, และที่สำคัญคือเป็นเพราะหลอดเลือดดำที่อยู่บริเวณรอบๆ เบ้าตาซึ่งเห็นได้ในคนที่ผิวบาง หรือบางครั้งหลอดเลือดดำเหล่านี้ก็ขยายตัว ถ้าอดนอน หรือร้องไห้มาก ซึ่งเมื่อประคบเย็นแล้วก็จะทำให้ดีขึ้น
จะเห็นว่าสาเหตุเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ระงับการทำงานของเซลล์สร้างสี เว้นเสียแต่ว่าเป็นรอยดำที่เกิดตามหลังการอักเสบของผิวหนัง;มี Laser บางชนิด (Long pulsed Nd-Yag) และ Laser ที่ร่วมกับคลื่นความร้อน (Diode Laser+RF) ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อทำให้หลอดเลือดดำหดตัวเล็กลง ซึ่งจะทำให้รอยคล้ำที่เกิดจากหลอดเลือดดำที่ขอบตาดูดีขึ้นได้ ครีมที่สำหรับทาบริเวณรอบดวงตาจึงอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรได้มากนัก นอกไปจากการได้นวดคลึงขณะที่ทาครีม ซึ่งอาจจะช่วยการหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้นบ้าง การทาครีม หรือยาแล้วทำให้หน้าขาวขึ้นบางทีก็อาจทำให้ดูไปแล้วเหมือนขอบตาคล้ำขึ้น เมื่อเทียบกับใบหน้าซึ่งขาวขึ้นก็ได้
ผิวหนังอักเสบอายุที่มากขึ้น
เมื่ออายุมากขึ้นๆ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับผิวหนัง ทั้งในส่วนของหนังกำพร้า และหนังแท้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น มีทั้งที่เป็นปัจจัยภายใน (Intrinsic aging) ซึ่งถูกกำหนดมาจากพันธุกรรม และที่เป็นปัจจัยภายนอก (Extrinsic aging) เช่น แสงแดด ลม ความร้อน ลักษณะการใช้ชีวิต สุขภาพ ความเครียด มลภาวะ ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พอจะจำแนกได้ดังนี้
รอยที่เป็นสีน้ำตาล (Dyschromia) เช่น รอยดำคล้ำเกรียม, กระ, ฝ้า
รอยที่เป็นสีแดง (Vascularity) เช่น เส้นเลือดฝอย, หน้าแดง
พื้นผิว (Texture) ที่ขรุขระไม่เรียบ และดูหยาบเช่น ติ่งเนื้อ, กระเนื้อ, ต่อมไขมันที่มีขนาดใหญ่ขึ้น, รูขุมขนใหญ่
ริ้วรอยเหี่ยวย่น (Wrinkle) ทั้งแบบที่ละเอียด (Fine wrinkle) และหยาบ (Coarse wrinkle) ทั้งแบบที่อยู่ตลอดเวลา (Static wrinkle) และแบบที่เห็นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า (Dynamic wrinkle)
ความหย่อน ไม่กระชับ (Skin laxity)